เสนอเก็บค่าถุงพลาสติกลูกค้า2บ.เข้ากองทุน-ทำซีเอสอาร์ ส.อ.ท.กระตุ้นรัฐฟื้น”ตาวิเศษ”ลดขยะ

ส.อ.ท.กระตุ้นรัฐฟื้น”ตาวิเศษ”เพิ่มโทษทุกฝ่ายที่มีส่วนทิ้งขยะลงทะเล เสนอเก็บค่าถุงพลาสติก2บ.ถึงเงินเข้ากองทุน-ทำซีเอสอาร์

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)  เปิดเผยถึงแผนการผลักดันเศรษฐหมุนเวียน(เซอร์คูล่า อีโคโนมี) ว่า ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการในการดูแลการจัดการขยะของประเทศไทยที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะปัญหาการทิ้งขยะในทะเลตามแหล่งท่องเที่ยวของไทย หลังไทยติดอันดับ6ประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด โดยต้องการให้รัฐบาลนำมาตรการที่เคยใช้ในอดีต อาทิ มาตรการตาวิเศษ ที่สามารถกระตุ้นคนไทยเห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะได้มาก โดยครั้งนี้อาจใช้มาตการเข้มข้น ดูแลตั้งแต่ผู้ประกอบการ เรือท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท มีมาตรการลงโทษ อาทิ โรงแรม รีสอร์ท ผู้ประกอบการเรือ เพราะกลุ่มนี้รู้กฎระเบียบดี และผู้ทิ้งขยะควรได้รับโทษ

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ล่าสุดภาคเอกชนได้จัดทำแผนลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่า 50% ช่วง 5 ปี ภายในปี 2563-67 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท. ร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันพลาสติก และองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืน หรือ พีพีพีพลาสติก มีเป้าหมายเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลับมาเป็นทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ปัจจุบันพีพีพี พลาสติก มีหลักดำเนินการ6เสาหลัก ประกอบด้วย 1.การจัดการขยะและสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติกโดยทำกรณีศึกษาในเขตเมืองพื้นที่ 7 แห่งในเขตคลองเตยคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2563 และภูมิภาคในพื้นที่องค์กรบริหารส่วนจังหวัดระยองที่ภายในปี 63 จะมีก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเพื่อจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ 2. การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม เช่นการนำเศษพลาสติกไปผสมยางมะตอยทำถนนราดยางฯลฯ 3.กิจกรรมสื่อสารประชาสัมพันธ์ 4. การทำงานร่วมภาครัฐเพื่อพัฒนานโยบายและกฏหมายต่างๆ 5.การจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติก และ 6.การหาเงินทุนและงบประมาณ

Advertisement

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตฯพลาสติก ส.อ.ท.กล่าวว่า พีพีพี พลาสติก อยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรการบังคับทางกฏหมายที่จะกำหนดให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีของภาครัฐนำร่องจำหน่ายถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการแทนการให้ฟรีเช่นปัจจุบัน เบื้องต้นเสนอไว้ที่ระดับ 2 บาทต่อถุงแล้วนำเงินรายได้ดังกล่าวมาจัดสรร 3 ส่วนได้แก่ 25 สตางค์ให้ห้างฯ นำไปทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร 50 สตางค์ส่งเข้ากองทุนพลาสติกที่บริหารโดยสถาบันพลาสติกสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมมาดำเนินงาน และ 1.25 บาทมอบให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำไปบริหารจัดการขยะภาพรวม

“ต้องการให้กระทรวงคลังพิจารณากฎหมายด้านภาษีที่เกี่ยวข้องเพราะไม่ต้องการให้ออกมาตรการแล้วมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายถุงเพราะจะเป็นเรื่องของกำไรที่เห็นว่าส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงไม่อยากให้นำมารวมไว้ หากดำเนินการกองทุนจะมีเงิน200-300ล้านบาทต่อปี คาดว่าแนวทางทั้งหมดจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ในปี 2563 “นายอภิภพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image