“ศักดิ์สยาม”ตั้งคณะทำงานสืบปมทุจริตค่าโง่โฮปเวลล์ พร้อมลุยแก้ปัญหาคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อตรวจสอบปมโครงการโฮปเวลล์ หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งออกมาว่าไม่มีการรับคำร้องพิจารณาคดีโครงการโฮปเวลล์ใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่  23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องหารือเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะต่อสู้คดีนี้ให้ถึงที่สุด เนื่องจากได้รับรายงานมาว่าอาจมีข้อทุจริตเกิดขึ้นระหว่างบุคลากรของกระทรวงฯกับผู้ที่ได้รับสัมปทานไป โดยรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในไม่ช้านี้ โดยหากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ก็จะนำเรื่องนี้ส่งฟ้องศาลฎีกาต่อไป โดยหากบทสรุปออกมาว่ากระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังคงเป็นผู้แพ้คดี ก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งศาลต่อไปคือ การจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดรวม 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีก 13,000 ล้านบาท โดยตัวเลือกสุดท้ายคือ การเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาว่าจะนำเงินจากส่วนใดมาจ่ายชดเชย โดยถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดออกมากำหนดให้จ่ายเงินทั้งหมดนี้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่มาก แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ จึงขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุดเพื่อไม่ให้มีค่าโง่เกิดขึ้น

“ในวันนี้ (27 สิงหาคม) จะมีการประชุมหัวหน้าหน่วยงานทั้งหมดในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานต่างๆ หลังจากได้มอบนโยบายและให้การบ้านแต่ละหน่วยงานไปแล้ว ซึ่งจะครบตามกรอบเวลา 1 เดือนที่กำหนดไว้ โดยถือเป็นตัวชี้วัดการทำงานของทุกหน่วยงานด้วย ซึ่งในช่วงเย็นวันนี้จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาโครงการท่าอากาศยานกระบี่ โดยจะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ เพื่อลดความแออัดในสนามบินภูเก็ต และเป็นส่วนช่วยกระจายผู้โดยสารไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้อีก ซึ่งหลังการประชุมดังกล่าวแล้วเสร็จจะเรียกบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาหารือถึงการโอนย้าย 4 สนามบิน โดยเฉพาะกรณีมติคณะกรรมการ (บอร์ด ทอท.) ที่จะมีการเลือกสนามบินกระบี่มาบริหารจัดการแทน”นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีภารกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีกำหนดไว้ โดยมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง รวมทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้แต่ละโครงการต้องเป็นไปตามแผนงาน สำหรับกรณีการขณะนี้เรื่องการขยายขีดความสามารถให้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ศาลได้ยกคำร้องไปแล้วจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังต้องรอคำสั่งศาล ในขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะมีการลงนามในสัญญาภายในเดือนกันยานยนนี้

“ถึงแม้จะพึ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 27 วัน แต่ก็ได้วางแนวทางในการบริหารงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ การสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ลดภาระงบประมาณแผ่นดิน  แก้ปัญหาปกท้องของประชาชน และการทำงานของทุกโครงการในกระทรวงคมนาคมจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยในขณะนี้ยังมีการเดินหน้าสานต่อโครงการเดิมควบคู่ไปกับการดำเนินการตามนโยบายใหม่ที่มอบไว้ ซึ่งยืนยันว่ายังไม่มีโครงการใดถูกตีตกไปจากเดิมที่กำหนดไว้

Advertisement

“จะมีการเข้าไปดูโครงการก่อสร้างที่ล่าช้ากว่ากำหนด อาทิ โครงการปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 โครงการก่อสร้างขยายถนนกัลปพฤกษ์ และการตรวจสอบความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ทั้งยังจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น p.m2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการทั้งในเรื่องการจำกัดเวลาวิ่งของรถบรรทุกในชั้นเมือง ขยายความเร็วของรถวิ่งได้สูงสูง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้วิ่งที่ความเร็วเท่าใดก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย โดยจะมีการยกเลิกไม้กั้นทางด่วนที่ซ้ำซ้อน เพื่อลดความแออัดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง รวมถึงจะมีการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้วยการพัฒนาการบริการรถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งต่อไปจะต้องเป็นรถโดยสารปรับอากาศเท่านั้น และต้องทำตั๋วรายวันให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 30 บาทต่อวัน”นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องแก้ไขปัญหาการจราจร และทำการจัดระเบียบครั้งยิ่งใหญ่ โดยจะมีการกำหนดเวลาให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาใช้ถนนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ว่าจะสามารถเข้ามาได้ในช่วงเวลาใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าให้ผู้ประกอบการที่ใช้รถขนาดใหญ่เข้ามาใช้แค่ช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีสี่น่าจะเหมาะสม เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางของประชาชนบนท้องถนน รวมถึงการเพิ่มความเร็วของรถ บนถนน 4 เลนขึ้นไป ให้สามารถวิ่งได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะเริ่มทดลองจากถนนสายหลัก คือ สุขุมวิท เพชรเกษม มิตรภาพ และพหลโยธิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอสรุปความชัดเจนว่าช่วงใดที่จะทำได้ โดยได้เสนอให้มีการทำแบริเออร์ยางพารา แทนการทำเกาะกลางถนน ซึ่งคุณสมบัติจะต้องรับแรงรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การผลิตแบริเออร์ยางพาราจะต้องทำจากสหกรณ์การเกษตรสวนยาง ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในเรื่องการคมนาคมทางบก และเกิดประโยชน์ต่อชาวเกษตรกร อีกทั้งเรื่องของการบริหารจัดการรถสาธารณะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการนำแอพพลิเคชั่นมาใช้ จะต้องหาวิธีในการทำให้สามารถจดทะเบียนแอพพลิเคชันเหล่านั้นเป็นการบริการของคนไทยให้ได้

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image