รองอธิบดีกรมชลฯ เร่งเครื่องโครงการก่อสร้างประตูระบายแม่น้ำตรัง ยันพร้อมใช้ทันปี 63

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 นายประเสริฐ วงศ์นราทิพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตรังเข้าร่วมประชุมหารือกับ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พระครูปัญญาวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนาเมืองเพชร นายณัฐพงษ์ เนียมสม นายกเทศมนตรี ตำบลนาตาล่วง พร้อมด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น ณ ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชั่วคราว โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรัก ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี คิดเป็นพื้นที่ 10,525 ไร่

ทั้งนี้จากสถิติข้อมูลฝนตกหนักในรอบ 25 ปี ศักยภาพแม่น้้าตรังสามารถรับน้ำได้ประมาณ 720 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีปริมาณน้ำไหลหลากสูงถึง 1,467 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ โดยเฉพาะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2531, พ.ศ. 2548, พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2554

กรมชลประทาน เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จึงพิจารณาทบทวนผลการศึกษาเดิม โดยได้จัดทำแผนงานการศึกษาในปีงบประมาณ 2556 และจัดทำรายงานวางโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งมีลักษณะเป็นเป็นการขุดคลองผันน้ำ ความยาว 7.55 กิโลเมตร พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำหนองตรุด บริเวณต้นคลองผันน้ำ และประตูระบายน้ำคลองช้างบริเวณปลายคลอง สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ควบคุมปริมาณการระบายน้ำ และเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฤดูฝนประมาณ 10,000 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการช่วยผลักดันน้ำเค็มในฤดูแล้งเพื่อรักษาระบบนิเวศอีกด้วย

ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมชลประทานมีแผนงานก่อสร้างคลองผันน้ำและอาคารประกอบ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง โดยได้ทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 แต่เนื่องจากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ กรมชลประทาน จะเร่งรัดดำเนินการทุกกระบวนการและจะเริ่มดำเนินการใหม่ให้ได้ในเดือนมกราคม 2563

Advertisement

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image