‘เซ็นทรัลวิเลจ’ยันเปิดแน่31สค.นี้ วอนรัฐเร่งเคลียร์ปัญหาด่วน(ชมคลิป)

‘เซ็นทรัลวิเลจ’ยันเปิดแน่31สค.นี้ วอนรัฐเร่งเคลียร์ปัญหา คาดช่วยจ้างงานกว่าพันคน หนุนเศรษฐกิจ-รายได้ผู้ประกอบการ3หมื่นล้านบ.

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่โครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น พื้นที่ 100 ไร่ มูลค่า 5,000 ล้านบาท ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเตรียมจะเปิดให้บริการตามกำหนดวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ขณะนี้ร้านค้าต่างๆ ภายในโครงการกว่า 150 ร้านค้า อาทิ ลักชูรี่ แบรนด์ ได้แก่ CHLOE, CLUB 21 (OUTLET BY CLUB 21), COACH,  ERMENEGILDO ZEGNA, ETRO, KATE SPADE NEW YORK, KENZO, MICHAEL KORS, POLO RALPH LAUREN, SALVATORE FERRAGAMO เป็นต้น อยู่ระหว่างการตกแต่งร้านและขนของเข้าร้านค้า เพื่อรอเปิดให้บริการในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีกรณีข้อพิพาท กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งล่าสุด ทอท. ได้จะทำหนังสือไปยัง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ตรวจสอบ 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ศูนย์การค้า ปล่อยคลื่นสัญญาณต่างๆ รบกวนเครื่องช่วยการเดินอากาศหรือไม่ 2.แสงไฟจากศูนย์การค้า จะกระทบต่อนักบินหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีนักบินร้องเรียนว่าสนามกอล์ฟบริเวณใกล้เคียงแยงตานักบินและเป็นอุปสรรคในการลงจอด 3.มีกิจกรรมที่อาจเกิดควันหรือไม่ 4.มีกิจกรรมที่กระตุ้นให้ดึงนกเข้ามาในเขตการบินหรือไม่ เช่น เศษอาหาร 5.การปล่อยแสงเลเซอร์ขึ้นไปสู่อากาศ และ 6.ระบบเข้าและออกโครงการต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด เพราะหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน รถฉุกเฉินจะได้ใช้เป็นทางเข้าออกได้อย่างสะดวก

Advertisement

นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีพีเอ็น เปิดเผยว่า บริษัทขอวิงวอนให้ภาครัฐให้ความเป็นธรรมและช่วยคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาต่างๆ โดยโครงการนี้มีมูลค่าร่วมลงทุนของซีพีเอ็น และร้านค้ากว่า 150 ล้านค้า มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยหลังจากเปิดบริการคาดว่าจะมีการจ้างงานร้านค้าเช่าพื้นที่กว่า 1,000 คน และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการกว่า 30,000 ล้านบาท โดยบริษัทยังยืนยันเปิดตามกำหนดการเดิมในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

“การลงทุนโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ตแห่งนี้ จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก บริษัทสามารถดึงนักลงทุนโกลบอลแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลก ซึ่งทุกคนพร้อมและเชื่อมั่นมาลงทุนในประเทศไทย โดยเราได้ใช้เวลาเตรียมการมากว่า 5 ปี และ ลักชูรี่ เอาท์เล็ตแห่งนี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ที่มีความครบถ้วน และทำให้คนไทยมาช้อปในประเทศ ทำให้ภาษียังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ โดยเป็นการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนมได้ง่ายขึ้นในราคาย่อมเยาว์” นายปรีชา กล่าว

นายปรีชา กล่าว บริษัทขอชี้แจง มี 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1: พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ      (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด
• ที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.
• ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล
• โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว
• ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด

ดังนั้น รายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิในที่ดินหน้าโครงการ ระหว่าง กรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้
ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน
โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุ และมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท ดูแล อีกทั้ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้
▪ โดยในปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน
▪ ปี 2544 ครม. มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้าออกด้านใต้ของสนามบิน ซึ่งคือทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 370
▪ ปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 370 ซึ่งประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
▪ กรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จาก
ทางหลวงแผ่นดิน 370 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง
▪ ทำให้ชี้ได้ว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็น
• ผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย
• ทอท. เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท. เลย

สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ. เวนคืน เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370
เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท. กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะ
o เป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจาก ทย. แล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2550 โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
o อีกทั้งล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก

ประเด็นที่ 2: บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด
• โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง
• และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

และประเด็นที่ 3 คือ บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง
• โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฏใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง
• และเราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป
โดย 5 ปีที่ผ่านมา นับแต่เริ่มพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ บริษัทฯ ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานถูกต้องทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาโดยตลอด และขอยืนยันว่าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง ตามไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นดังนี้
1. ปี 2558 บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบที่ดินว่า ที่ดินดังกล่าวนั้นสามารถพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจได้ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง และติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ไม่ใช่ที่ดินตาบอดแต่อย่างใด
2. วันที่ 22 ธ.ค. 2559 บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ. ผังเมือง ว่า พื้นที่สีเขียวบริเวณ ก1-10 ของผังเมืองสมุทรปราการ ยังมีพื้นที่เพียงพอให้บริษัทฯ สร้างโครงการนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3. วันที่ 30 ม.ค. 2560 และ 25 ก.ค. 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
4. วันที่ 24 เม.ย. 2561 ได้ใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร (อ1) จาก อบต. บางโฉลง
5. วันที่ 24 เม.ย. 2561 บริษัทฯ ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
6. วันที่ 10 เม.ย. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้การประปา ใช้พื้นที่ไหล่ทางในการดำเนินการวางท่อเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
7. วันที่ 24 ก.ค. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้ทำทางเชื่อมเข้าออก ขยายผิวจราจร และปรับปรุงทางเท้า ซึ่งรวมไปถึงไหล่ทางด้วย เช่นเดียวกับที่เคยได้อนุมัติเชื่อมทางให้กับผู้ร้องขอรายอื่นบนถนนสายนี้ทั้งสิ้น 37 ราย รวมถึง ทอท. ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยขออนุญาตจากกรมทางหลวงมาโดยตลอด และล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
8. ในวันที่ 14 ส.ค. 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร (อ6) จาก อบต. บางโฉลง
9. ในวันที่ 22 ส.ค. 2562 ทอท. มาปิดกั้นทางเข้าออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
10. ในวันที่ 31 ส.ค. 2562 มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image