‘นิพนธ์’การเมืองนำทหาร แก้ชายแดนใต้ โม้ได้เเต่ทำไม่ได้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

จากที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ให้สัมภาษณ์สื่อชายแดนใต้ว่า เขาจะใช้การเมืองนำการทหารเพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น ถูกสบประมาทว่าเป็นคนพูดหาเสียงขายฝันหรือนักเลงการเมืองมองว่าขี้โม้มากกว่า

ทำไม คำตอบคือ หนึ่งการเมืองการปกครองส่วนกลางไม่เอื้อและรวมศูนย์อำนาจ สองการแก้ปัญหาและพัฒนาชายแดนใต้อยู่ภายใต้หน่วยความมั่นคง

ท่านนิพนธ์ครับ ทั้งๆ ที่ท่านทราบดีว่ากลไกในกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูแลจังหวัดอำเภอ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจทหารหรือ กอ.รมน.ทั้งคนและงบประมาณและที่สำคัญอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

Advertisement

ตลอด 5 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. ในทางปฏิบัติเป็นที่รู้กันว่ารัฐบาล คสช.ใช้การทหารนำการเมือง ในอดีต ศอ.บต.ที่มี พ.ร.บ.รองรับมีอำนาจทั้งคน งบประมาณ อีกทั้งเปิดบทบาทสภาที่ปรึกษาที่สรรหาจากประชาชนทุกภาคส่วนและทำท่าจะประสบความสำเร็จมากๆ สมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กลับถูกยึดอำนาจ ทำให้ ศอ.บต.เป็นแค่หน่วยงานหนึ่งของ กอ.รมน.พร้อมทั้ง คสช.ยังส่งทหารหลายท่านไปคุมตำแหน่งเลขาธิการและตำแหน่งอื่นๆ ในโครงสร้าง ศอ.บต.เรียกว่าคุมทั้งคน ทั้งนโยบายและ
งบประมาณ

ดังนั้นข้อเสนอของนายนิพนธ์เป็นเพียงขายฝัน และท่านนิพนธ์ก็ทราบดีว่าเป็นไปไม่ได้ อีกทั้ง รมว.มหาดไทยคือคนของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

อะไรคือทางออกที่จะใช้นโยบายการเมืองนำการทหารได้จริง

Advertisement

1.ปฏิรูปการเมืองส่วนกลางทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เป็นมรดก คสช.และการกระจายอำนาจโดยลดอำนาจเพิ่มอำนาจประชาชน

2.ระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องนำพาจังหวัดชายแดนใต้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดโดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ นโยบายและมาตรการที่ชัดเจน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้อธิบายหลักการนี้ว่า ใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ยกเลิกนโยบาย “ทหารนำการเมือง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ภายหลังการรัฐประหาร ได้ใช้อำนาจรัฐประหารให้ กอ.รมน.ภาค 4 เป็นหน่วยงานนำ บังคับบัญชาและกำกับดูแลหน่วยงานราชการทุกแห่งใน จชต. รวมทั้ง ศอ.บต. ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติที่ตราโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หน่วยงานด้านการยุติธรรม พลเรือนต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง การประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การเน้นการใช้กำลังในการปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ มีผลทำให้เกิดช่องว่าง ความแปลกแยกห่างเหินระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการ การใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” จะนำไปสู่การปรับปรุงการใช้กฎหมาย โครงสร้างการบริหาราชการแผ่นดิน การปฏิบัติและมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” อย่างเป็นรูปธรรมและมีขั้นตอนที่ชัดเจน

ทำให้ ศอ.บต. มีความเป็นอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตยและยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่มีผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อกระจายอำนาจสู่พื้นที่ ยกเลิกการนำ ศอ.บต. ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.4 โดยให้ กอ.รมน.4 กำกับดูแลเฉพาะหน่วยกำลัง เพื่อรักษาความสงบ และให้ กอ.รมน. ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับ จชต.ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ส่งผ่าน ศอ.บต.เท่านั้น

ในอนาคตต้องยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเริ่มจากการจำกัดและตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มข้น และดำเนินการตามขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วในที่สุด

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนคือเคารพยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา ที่เกิดกับชนทุกกลุ่ม เปิดพื้นที่สำหรับเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้ประชาชนที่มีข้อมูล ทรรศนะ ความเชื่อ และมีข้อเสนอแนะต่างๆ กัน สามารถแสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์ โดยไม่สร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือยุยงให้เกิดความรุนแรง หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องยุติการสร้างความแตกแตก โดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วม สนับสนุน โฆษณา ชี้นำ ทั้งในทางตรงและทางอ้อมในความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวพุทธและชาวมุสลิม รวมทั้งการฝึกอาวุธให้ประชาชนและปฏิบัติการด้านการปล่อยข่าวเท็จ และการป้ายสี สร้างมลทิน (Information Operation-IO) ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่บางคน จากหน่วยงานด้านความมั่นคงบางแห่ง

ยุติการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล นักวิชาการ หรือองค์การภาคประชาสังคมที่ติดตามสถานการณ์ สอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐและการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ

ครับ การทำได้อย่างนี้เท่านั้นนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ที่ท่านนิพนธ์โม้ไว้จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง แต่มีหรือท่านพลเอกประยุทธ์จะยอม

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์
(อับดุลสุโก ดินอะ)
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image