“สุริยะ”สั่งดึงชุมชนหุ้นโรงงานกำจัดขยะอุตฯ-ตั้งกองทุนดูแล

“สุริยะ”สั่งดึงชุมชนร่วมหุ้นตั้งโรงงานกำจัดขยะอุตฯ พร้อมตั้งกองทุนดูแล กันชาวบ้านต่อต้านขยายตั้งโรงกำจัดขยะ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้นโยบายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ว่า ได้ให้กรอ.เพิ่มจำนวนโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น เพื่อให้การกำจัดกากอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และป้องกันการนำกากอุตสาหกรรมลักลอบไปทิ้งในนอกพื้นที่โรงกำจัดกากอุตสาหกรรม จากปัจจุบันมีโรงงานกำจัดกากฯ เพียง 2,353 โรงงาน จากโรงงานทั่วประเทศมีจำนวน 80,000 โรงงาน มองว่า ยังไม่เพียงพอ โดยการขยายโรงงานกำจัดกากฯ ให้ดึงชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งให้ตั้งกองทุนรอบโรงกำจัดกากฯ ลักษณะเดียวกันการตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า โดยให้นำเงินกองทุนฯ มาดูแลชุมชนบริเวณโดยรอบโรงกำจัดกาก เพื่อป้องกันการต่อต้านของคนในพื้นที่

“ปัญหาใหญ่ของการตั้งโรงงานกำจัดกากที่ผ่านมา เกิดจากการต่อต้านของคนในพื้นที่ ไม่มีใครอยากให้มาตั้งโรงกำจัดกากใกล้ๆบ้าน แต่เมื่อมีโรงงานกำจัดกากน้อย ทำให้ผู้รับจ้างขนกากบางแห่ง อาจมักง่ายนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งข้างทาง เพราะไม่อยากขนส่งไปไกล หรือผู้ประกอบการโรงงานบางราย ก็ไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายไปโรงงานกำจัดกากไกล ทิ้งข้างทางเป็นปัญหาแบบที่ผ่านๆมา โดยเงินกองทุนฯ จะเก็บรายได้จากโรงกำจัดกากอุตฯ”นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะกล่าวว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรอ.เข้มงวดดูแลการกำจัดกากอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน และสิ่งแวดล้อม โดยกรอ.รายงานว่า ต่อไปจะมีวิธีการตรวจสอบ และติดตามผลอย่างใกล้ชิดผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางโรงงานว่า ส่งกากอุตสาหกรรมไปกำจัดปริมาณเท่าไร  บริษัทที่รับขนส่งไปกำจัดเท่าไร และปลายทางเท่ากันหรือไม่ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทาง

Advertisement

นายสุริยะกล่าวถึงการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศที่หนีสงครามการค้า(เทรดวอร์)ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ว่า ได้สั่งการให้กรอ.หาพื้นที่ลงทุนรองรับ เบื้องต้นอาจพิจารณาจากเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้กฎหมายกรอ. โดยอาจจัดตั้งเพิ่มเติม หรืออาจใช้พื้นที่เดิม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 25 เขต และใช้วิธีเพิ่้มสิทธิประโยชน์ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยกรอ.จะตั้งคณะทำงานเพื่อประสานสิทธิประโยชน์การลงทุนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมรองรับการลงทุนต่อไป

“ปัจจุบันพื้นที่ลงทุนมีทั้งเขตประกอบการ และนิคมอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ หรือกนอ. มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุม แต่เขตประกอบการอุตฯ สิทธิประโยชน์น้อยกว่า ดังนั้นจึงพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อรองรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการลงทุนในนิคมฯ”นายสุริยะกล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรอ. กล่าวว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาว่า การตั้งกองทุนรอบโรงกำจัดกากฯ ทำได้หรือไม่ หรือต้องไปแก้ไขกฎหมายตรงส่วนไหน  ส่วนยอดขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 ทั้งประกอบกิจการใหม่ และขยายกิจการโรงงานทั่วประเทศในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม-สิงหาคม2562) มีจำนวน 2,696 โรงงาน ลดลง 18% มูลค่าลงทุน 308,862.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.07% มีการจ้างงาน 118,782 คน ลดลง 8% โดยอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 81,367.45 ล้านบาท, อุตสาหกรรมจากปิโตรเลียม 39,643.93 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 32,715.47 ล้านบาท, อุตสาหกรรมผลิตเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ 21,691.03 ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 16,724.94 ล้านบาท เมื่อแยกการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, ระยอง และ ฉะเชิงเทรา จำนวน 339 ราย มูลค่าการลงทุน 79,910 ล้านบาท จ้างงานใหม่ 17,011 คน

“จำนวนโครงการลงทุนลดลงเล็กน้อย แต่มูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้นมาก แสดงให้เห็นว่าการลงทุนยังมีแนวโน้มดี และพบว่าจ้างงานลดลง แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ แทนแรงงานคน ทำให้การผลิตมีศักยภาพเพิ่มขึ้น”นายทองชัยกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image