เอกชนแนะภาครัฐหามาตรการระยะกลาง-ยาว รับมือศก.ส่งสัญญาณถดถอย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กังวลในส่วนของตัวเลขอัตราการว่างานที่เพิ่มสูงขึ้น ว่า ต้องดูก่อนว่าธปท.กังวลในส่วนใด ในส่วนระยะสั้นหรือในระยะยาว หากกังวลในระยะสั้น น่าจะดูจากการที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การจ้างงานเพิ่มขึ้นคงไม่มี เด็กที่จบการศึกษาใหม่อาจจะเข้างานลำบากมากขึ้น เพราะไม่มีการขยายอัตรากำลัง แต่ในระยะยาวคงมีความกังวลในส่วนของการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยี 4.0 หรือการทำงานที่ต้องใช้ทักษะเพิ่มขึ้น ทำให้คนที่ทำงานในลักษณะเดิมๆ หรือไม่ต้องใช้ทักษะได้รับผลกระทบ โดยในอนาคตงานที่ต้องใช้คนจำนวนเยอะๆ จะเป็นงานด้านบริการ เพราะมีรายได้ที่มากกว่าและมีความต้องการที่มากกว่า

“ตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มขึ้น จะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจถอดถอยหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยมาจากการค้าโลกที่ชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ทำให้ประเทศไทยได้ผลกระทบมากขึ้น ด้านภาคการส่งออก ซึ่งที่ผ่านมารายได้ของประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและห่วงโซ่ต่างๆ เพราะเกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่สูง ซึ่ง พอมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกับจิตวิทยาของคนทั่วไป ก็จะทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีรายได้หรือไม่มีเงินอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นเพราะไม่มั่นใจกับรายได้ในอนาคตแทต”นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การรับมือของภาคเอกชนต้องแยกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่ต้องส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ ต้องหาตลาดใหม่เพิ่มเติม หรืออาจจะเป็นการการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น และการทดแทนสินค้าในตลาดที่สามารถเข้าไปได้มากขึ้น สำหรับในประเทศไทย มองว่ายังสามารถหาเครื่องมือเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ อาทิ การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพราะที่ผ่านมาคนไทยหนีออกไปเที่ยวต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะเงินบาทแข็ง ทำให้เที่ยวต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกมากกว่าเที่ยวในประเทศที่มีราคาสูงขึ้น สำหรับมาตรการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา อาจช่วยได้ในระยะสั้น แต่อยากเห็นมาตรการที่ส่งเสริมในระยะกลางและยาวออกมาด้วย เพื่อที่จะได้ทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงอย่างมั่นคง โดย มาตรการระยะกลางและระยะยาวจะเป็นตัวบอกอนาคตข้างหน้า ส่วนมาตรการระยะสั้นจะเป็นตัวชะลอการถอถอยให้น้อยกว่าที่ควร

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า กรณีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังอยากเห็นมาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้นและมาตรการชั่วคราวมากกว่า เพราะในระยะยาวภาครัฐควรที่จะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้คนที่มีระดับรายได้น้อย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากวิธีการอื่น อาทิ มีการศึกษาที่สูงขึ้นหรือมีทักษะการทำงานที่สูงขึ้น เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงไปของสังคม หรือแม้กระทั่งในด้านของผู้ที่อาจมีความรู้ไม่มากนัก แต่ในด้านของงานบริการ เชื่อว่าจะสามารถปรับตัวเข้าไปทดแทนได้ง่ายมากขึ้น หากผ่านการอบรมที่มีมากพอ เนื่องจากรายได้ในอนาคต หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศเหล่านั้นไม่ได้มีรายได้ที่มาจากภาคการผลิตสูงมากเหมือนกับประเทศไทย แต่เน้นไปที่รายได้ในภาคของการบริการแทน โดยหากนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในระยะยาวจะทำให้การพัฒนาไม่เกิดขึ้น เพราะหมายความว่าจะเน้นทำไปที่ด้านเดียว ซึ่งความจริงแล้วจะต้องทำควบคู่กันไป เนื่องจากหากรายได้ของผู้มีรายได้น้อยยังคงน้อยอยู่ ก็จะต้องมีตัวช่วยเข้าไปกระตุ้นทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งก็จะมาตรงกับการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง การจ้างงานทีไม่มากพอ ในระยะสั้นก็อาจจะกระตุ้นด้วยมาตรการดังกล่าว แต่ในระยะยาวจะต้องจับทิศให้ถูกว่าอุตสาหกรรมไปทางใด ภาคการบริการไปทางใด ซึ่งจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคลเหล่านี้มีความรู้ และมีความพร้อมที่จะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเหล่านั้น รวมถึงมีความสามารถที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image