อีอีซีเนื้อหอม8เดือนลงทุนเฉียด8หมื่นล. 

อีอีซีเนื้อหอม8เดือนลงทุนเฉียด8หมื่นล. 

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ว่า ขณะนี้ 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซียังเดินหน้าต่อเนื่อง แม้จะใช้เวลานานอยู่ แต่ก็เพื่อความชัดเจนทางกฎหมายไม่เกิดปัญหาภายหลังโดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ผู้ชนะ คือ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)อยู่ระหว่างเคลียร์ปัญหาเรื่องพื้นที่ โดยคาดว่าทั้ง 5 โครงการจะมีความชัดเจนลงนามสัญญาภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ โดยเฉพาะโครงการที่ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว อย่างรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 2 ซึ่ง 2 โครงการท่าเรือผู้ชนะประมูลคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุดตัวเลขการลงทุนในพื้นที่อีอีซียังเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)ระบุว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม-สิงหาคม 2562) มีผู้ประกอบการไทยและต่างชาติทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) และขยายการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทั้งจ.ชลบุรี จ.ระยอง และจ.ฉะเชิงเทรา รวมจำนวน 339 ราย มูลค่าการลงทุน 79,910.90 ล้านบาท จ้างงานใหม่ 17,011คน

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากนับเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมพื้นที่อีอีซีก็มีจำนวนถึง 62 ราย การจ้างงานกว่า 7,900 คน และมูลค่าลงทุน 21,203.40 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิสก์ 18 โรงงาน จ้างคนงานเพิ่ม 5,549 คน มูลค่าลงทุน 14,227.59 ล้านบาท, อุตสาหกรรมยานยนต์ 21 โรงงาน จ้างคนงาน 1,044 คน มูลค่าลงทุน 5,850.19 ล้านบาท, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 16 โรงงาน จ้างงาน 533 คน มูลค่าลงทุน 563.89 ล้านบาท, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสุขภาพ 3 โรงงาน จ้างงาน 747 คน มูลค่าลงทุน 336.5 ล้านบาท และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล 4 โรงงาน จ้างงาน 57 คน และมีมูลค่าลงทุน 195.22 ล้านบาท

Advertisement

แหล่งข่าวกล่าวว่า ยอดขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 ทั้งประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานทั่วประเทศในช่วง 8 เดือนมีจำนวน 2,696 โรงงาน มูลค่าลงทุน 308,862.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.07% มีการจ้างงาน 118,782 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 81,367.45 ล้านบาท,อุตสาหกรรมจากปิโตรเลียม 39,643.93 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 32,715.47 ล้านบาท, อุตสาหกรรมผลิตเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ 21,691.03 ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 16,724.94 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image