รายงาน น.2 : ‘สาธิต ปิตุเตชะ’ รมช.สธ.ต่อยอดเทรนด์ออกกำลังกาย

หมายเหตุ – นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงภารกิจในกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

⦁ต่อยอดเทรนด์ออกกำลังกาย

มีเรื่องตั้งใจไว้โดยหลัก คือ 1.ลดความแออัดในสถานพยาบาล ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว เพียงแต่จะเข้ามาดูในภาพรวม เพราะปัญหาการใช้บริการสาธารณสุขเป็นปัญหาเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่โครงสร้างบุคลากร ไปจนถึงงบประมาณ เป็นนโยบายหลักต้องเร่งดำเนินการ ภายในระยะเวลาจำกัด 2.ป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยการออกกำลังกาย ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ หรือกำลังคน แต่เป็นการรณรงค์สร้างกระแส สร้างความตระหนัก และสร้างจิตสำนึกให้คนไทยหันมาออกกำลังกาย

ขณะนี้เทรนด์การออกกำลังกายมาแรง เพียงแต่ต่อยอดและเพิ่มให้การออกกำลังกายเป็นกระแสไปทั่วประเทศไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แต่จะเน้นไปยังคนฐานล่างให้หันมาใส่ใจการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ด้วยวิธีง่ายที่สุด เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีเวลาจำกัด อาทิ เด็กและเยาวชนในชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นฟุตบอล เพราะมีพื้นที่จำกัด แต่มีข้อมูลบางส่วนพบว่ามีจำนวนหนึ่งนิยมเล่นบาร์เดี่ยว สร้างกล้ามเนื้อ ใช้พื้นที่น้อยและงบประมาณไม่มาก ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาว่าสามารถจะทำทั้งระบบได้หรือไม่

Advertisement

⦁ยกระดับมาตรฐาน‘สตรีท ฟู้ด’

3.งานภายใน 4 หน่วยงานสังกัด สธ.ที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เนื้องานที่เร่งดำเนินการล้วนเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่ดูแล ทั้งในเรื่องการส่งเสริมการออกกำลังกายของกรมอนามัย การลดความแออัดในโรงพยาบาล จะขับเคลื่อนผ่านกรมการแพทย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมีนโยบาย วิสัยทัศน์ และเทคโนโลยีนำร่องอยู่แล้ว ทั้งการลงทะเบียนออนไลน์ การตรวจสอบสิทธิคนไข้ผ่านระบบคิว เป็นต้น

4.พัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี (สตรีท ฟู้ด) ให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่ปนเปื้อน เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของสตรีท ฟู้ดในแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าสตรีท ฟู้ด ทำให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทย ด้วยรสชาติอาหารและความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ จะพยายามส่งเสริมสตรีท ฟู้ด ให้กลายเป็นซิกเนเจอร์ของไทย เป็นการท่องเที่ยววิถีไทย แทนสถานบริการและแหล่งบันเทิงกลางคืน ซึ่งเร็วๆ นี้จะจัดงานอาหารสตรีท ฟู้ด 4 ภาค

Advertisement

⦁‘เทเลฟาร์มาซี’ลดขั้นตอนรับยา

5.โครงการเทเลฟาร์มาซี (Telephamacy) เพื่อลดขั้นตอนในการรับยาของคนไข้ สอดคล้องกับนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยการใช้บริการของโรงพยาบาล มี 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การลงทะเบียน การตรวจสอบสิทธิ เช่น การใช้สิทธิประกันสังคม บัตรทอง สิทธิข้าราชการ หลายโรงพยาบาลมีระบบการจัดการที่ดีแล้ว ต่อมาขั้นตอนการพบแพทย์ การวินิจฉัยเฉพาะทาง ขั้นตอนนี้ไม่สามารถจำกัดเวลาการรักษาได้ เพราะจะส่งผลกระทบกับการวินิจฉัยที่นำไปสู่การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และขั้นตอนการรับยา การรับยาพบว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่มีปัญหาเรื่องความแออัด ต้องใช้เวลารอนาน ขั้นตอนนี้สามารถลดเวลาได้โดยการจัดส่งยาไปให้คนไข้ที่บ้าน

ล่าสุด มีข้อสรุปจากสำนักงานหลักสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ที่ได้พบแพทย์แล้ว ไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านทันที จะเริ่มทำในโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ จากข้อมูลมีกลุ่มเหล่านี้จำนวนมาก จะต้องเดินทางพบแพทย์เป็นประจำ และส่วนของการจัดยาพบมีการจัดยาคล้ายเดิม จึงจะตัดขั้นตอนในกลุ่มนี้ เพื่อลดปัญหาแออัดในกลุ่มใหญ่ คาดจะเริ่มนำร่องในพื้นที่สำนักงานเขตสุขภาพ 6

สปสช.จะหาวิธีทำให้ราคายาของโรงพยาบาลและร้านขายยาเท่ากัน เพราะปัจจุบันราคายาเหลื่อมกันเล็กน้อย แต่ยืนยันจะไม่ให้ประชาชนรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นราคายาที่เหลื่อมกัน การจัดส่ง และการจ่ายเงินส่วนอื่นเพิ่ม

⦁‘บล็อกเชน’นำร่อง6เขตสุขภาพ

6.ให้คนไข้เป็นเจ้าของข้อมูลทางการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) พัฒนาระบบกระจายข้อมูลที่เชื่อมโยงกันในแต่ละส่วน เพียงต้องหาหน่วยงานเข้ามาพัฒนาระบบบางส่วน เช่น เมื่อคีย์ข้อมูลเสร็จแล้ว จะมีระบบหนึ่งทำให้ข้อมูลเชื่อมโยงกันในทุกโรงพยาบาล ถ้าคนไข้ยินยอมให้แพทย์เข้าไปในข้อมูลคนไข้ในการนำมารักษา จะนำร่องในสำนักงานเขตสุขภาพ 6 เช่นเดียวกัน

ถามว่าทำไมต้องเริ่มนำร่องในเขตสุขภาพ 6 เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการให้บริการสาธารณสุขมากกว่าที่อื่น และพื้นที่มีความพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้ง จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.สมุทรปราการ จ.ปทุมธานี โดยมีประชากรแฝงและต่างชาติเข้ามาอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันตามสถานพยาบาลต้องแบกรับปัญหากลุ่มคนเหล่านี้ และพบพื้นที่ดังกล่าวยังขาดแคลนบุคลากร และหากสามารถใช้ระบบเข้ามาจะช่วยลดภาระ ช่วยส่งเสริมให้บุคลากรการแพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

⦁เปิดเวทีถกหาข้อสรุป‘บุหรี่ไฟฟ้า’

ส่วนเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้านั้น ไม่ได้มีนโยบายโดยตรง แต่ทราบว่ามีหลายหน่วยงานไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ เนื่องจากมีผลกระทบด้านผู้เสพใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน แต่ก็มีข้อมูลอีกด้านในส่วนของกลุ่มผู้สูบเดิม บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินในปริมาณน้อยกว่า ปัจจุบันไม่มีนโยบายชัดเจนเรื่องดังกล่าว แต่ส่วนตัวมีความเห็นว่าเรื่องนี้ควรเปิดเวทีให้การถกเถียงกันในสังคมจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปในการนำมาสู่นโยบาย

ทั้งหมดนี้ เรื่องใดผลักดันได้ ก็ทำไปก่อน ไม่อยากทำหลายเรื่อง เพราะภายใต้กรอบงบประมาณ และเวลา อาจไม่ได้ทำให้ขับเคลื่อนได้หลายเรื่องมากนัก ส่วนเรื่องอื่นก็อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล เช่น ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยที่ต้องได้รับการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาทั้งระบบ

⦁ปลดล็อกเงินเดือนสธ.เหลื่อมล้ำ

ส่วนประเด็นอดีตพนักงานรัฐในสังกัด สธ.กว่า 24,000 คน ขอคืนอายุราชการ และเรียกร้องแก้ไขเงินเดือนเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้ต้องเห็นใจทุกคน เพราะเป็นการเรียกร้องสิทธิที่ขาดหายไป ต้องเข้าใจว่าเป็นปัญหาในเรื่องของโครงสร้างและกฎหมาย จึงทำให้กลุ่มดังกล่าวสูญเสียสิทธิบางเรื่อง แต่มองในภาพรวมของประเทศ เมื่อ สธ.จะทำอะไรต้องดูภาพใหญ่ ต้องเข้าใจในภาพรวมว่าหากจะปฏิรูปประเทศในด้านสาธารณสุข จะต้องลดค่าใช้จ่ายบุคลากรลงในบางมิติ โดยเฉพาะปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญ ไม่เช่นนั้น การแข่งขันและรายได้ของประเทศจะไม่สอดคล้อง ในภาพรวมจึงจำเป็นต้องควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าว และยอมรับว่าที่ผ่านมา สธ.ได้รับงบเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10

ขณะเดียวกัน ปัญหาการบรรจุกำลังแพทย์และพยาบาล 12,000 อัตรา ควรจะได้รับอัตราในการบรรจุตำแหน่ง พยายามมองหาอัตราบรรจุให้ ขณะนี้สั่งให้สำรวจอัตราแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรเดิมที่ทำงานอย่างตั้งใจ อีกทั้งพื้นที่อีอีซียังมีกฎหมายพิเศษที่มีข้อยกเว้น จะต้องให้ทุกฝ่ายมาร่วมหารือ

⦁เดินหน้าเพิ่มค่าตอบแทนอสม.

สำหรับวาระเร่งด่วนที่เป็นนโยบายจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และต้องนำมาผลักดันใน สธ. ตามที่ได้หาเสียงไว้ก็มีไม่กี่เรื่อง อาทิ การเพิ่มค่าตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็น 1,200 บาท ที่ผ่านมาพรรค ปชป.เห็นถึงความสำคัญของ อสม. ปชป.เป็นผู้เริ่มต้นให้ค่าตอบแทน อสม. 600 บาท เป็นพรรคแรก ก่อนรัฐบาลปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาท แต่ในส่วน 200 บาท เพิ่มเข้ามา จะปรับเป็นเงินออม เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ อสม. ในเงินออม จะผลักดันให้รัฐบาลจ่ายสมทบ 100 บาท และเมื่อครบอายุจะได้เป็นเงินบำนาญ

ผมย้ำกับ อสม.ว่าจะทำให้ได้ และเรียกร้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำเรื่องนี้ แม้นโยบายด้านสาธารณสุข ปชป.ไม่ได้หาเสียงกับพี่น้องประชาชนไว้มากนัก แต่โดยหลักจะอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ส่วนตัวก็พยายามทำหน้าที่ตรงนี้ ตอนนี้ก็แฮปปี้

นฤมล รัตนสุวรรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image