สถานีคิดเลขที่ 12 : ความรู้สึกคน : ปราปต์ บุนปาน

กระแสความรู้สึก “เชื่อมั่น” หรือ “ไม่เชื่อมั่น” ต่อ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ของผู้คนในสังคมขณะนี้ มีลักษณะน่าสนใจ

เพราะดูเหมือนว่ากระแสความรู้สึกเหล่านั้นจะมิได้ถือกำเนิดจากหรือขึ้นตรงกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นปัญหาใดประเด็นปัญหาหนึ่ง

แต่เป็นความรู้สึกที่ก่อตัวขึ้นจากหลายๆ องค์ประกอบ

เช่น สถานะทางข้อกฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งไปๆ มาๆ ดูจะเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” กับศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกชนชั้น ว่าพวกเขาทุกคนยังคงมีความหวังในวันข้างหน้า

Advertisement

นี่คือสององค์ประกอบ สองเรื่องสำคัญ ที่คล้ายจะไม่เกี่ยวข้อง ทว่าก็เชื่อมโยงกัน ประดุจสองด้านของเหรียญ

กล่าวคือ สำหรับใครที่เชียร์ “รัฐบาลลุงตู่” พวกเขาก็ย่อมไม่ติดใจ ไม่ค้างคาใจเรื่องปมถวายสัตย์ ทั้งยังมีแนวโน้มจะขอโอกาสให้รัฐบาลชุดนี้ได้ทำงานพิสูจน์ตนเองต่อไปยาวๆ โดยเฉพาะในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ

หรือใครที่ยังร่ำรวย มีเงินในกระเป๋าเหลือเฟือ มีชีวิตดีๆ ได้โดยไม่ทุกข์ร้อนก็มีแนวโน้มสูงที่จะมองไม่เห็นว่าสถานภาพของรัฐบาลนั้นมีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญตรงจุดไหน?

Advertisement

ในทางตรงกันข้าม ใครที่กำลังมีปัญหาปากท้อง เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ ก็ย่อมจะรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่เชื่อใจในสถานภาพตามรัฐธรรมนูญของ “รัฐบาลประยุทธ์” ไปพร้อมๆ กัน

ยิ่งใครที่รู้สึกว่ารัฐบาลมีปัญหาด้านความชอบธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะไม่เชื่อมั่น “ครม.ประยุทธ์ 2” ในเรื่องอื่นๆ ตามไปด้วยได้ง่ายๆ

อาทิ พวกเขาอาจรู้สึกว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ มีลักษณะเป็นนโยบายแนวสังคมสงเคราะห์ มากกว่าจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจในหมู่ประชาชนรากหญ้า

ด้วยเหตุนี้ ในสังคมเราจึงมีทั้งกลุ่มคนที่เชื่อถือรัฐบาลในเรื่องหนึ่ง แล้วก็เชื่อเรื่องอื่นๆ ต่อเนื่องไปทุกเรื่อง และกลุ่มคนที่ไม่เชื่อมั่นรัฐบาลตั้งแต่ต้น แล้วจึงไม่เชื่อเรื่องอื่นๆ ก่อนจะหมดสิ้นศรัทธาในทุกเรื่อง

เป็นความรู้สึก “เชื่อมั่น/ไม่เชื่อมั่น” กันแบบ “ยกแผง”

นี่คือ “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก” ของผู้คนในสังคมการเมืองยุคปัจจุบัน

ไม่ว่าโครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นจากปัจจัยใดบ้าง? (บางคนอาจพุ่งเป้าไปกล่าวโทษ “โซเชียลมีเดีย” เป็นหลัก)

แต่ปัญหาน่าสนใจเฉพาะหน้ามีอยู่ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีอารมณ์ความรู้สึกชนิดไหนมากกว่ากัน?

พวกเขาสามารถถ่ายทอดระบายมันอย่างตรงไปตรงมาได้มากน้อยเพียงใด?

ผู้มีอำนาจรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมหรือไม่? และทำความเข้าใจ-ตอบสนองอย่างไรต่อกระแสความคิดดังกล่าว?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image