เดินหน้าชน : ความไม่พร้อม : ศุกร์ มังกร

การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 นั้นเป็นเรื่องของ “ความไม่พร้อม” ทั้ง “บุคลากร” และ “ขั้นตอน” การปฏิบัติ

ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมในด้านความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกระบวนการพิจารณาคดีตามหลักการใหม่ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันด้วย

กล่าวคือ ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว หลักการดำเนินคดีนั้นแตกต่างไปจากเดิม

แค่สามีเมาสุราทำร้ายภรรยาได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ถึงกับสาหัส

Advertisement

หากสามีรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจะต้องรีบสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อฟ้องศาลแขวงฯภายใน 48 ชั่วโมง

หรือที่เรียกว่า “ฟ้องใบแดง”!

เมื่อศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายใหม่ ได้รับสำเนาบันทึกคำร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว

Advertisement

จะต้องรีบไปยื่นคำร้องต่อศาลแขวงเพื่อให้รอการพิพากษา และต้องรีบไปยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว และนำพยานเข้าไต่สวน เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ เช่น สั่งห้ามสามีเข้าใกล้หรือข่มขู่คุกคามภรรยาหรือคนในครอบครัว ให้ไปบำบัดอาการติดสุรา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความรุนแรงซ้ำต่อภรรยา

การที่กฎหมายใหม่กำหนดให้ พมจ.เป็นศูนย์ในต่างจังหวัด และให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นศูนย์ในกรุงเทพมหานคร

จึงมีข้อน่าเป็นห่วงว่า ศูนย์มีบุคลากรที่จะทำงานแข่งกับเวลาเช่นนี้เพียงพอหรือไม่?

เพราะในแต่ละจังหวัดไม่ได้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพียงสัปดาห์ละคดีหรือวันละคดี เมื่อรับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่ของศูนย์จะต้องไปรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อนำมายื่นคำร้องต่อศาลแขวงและศาลเยาวชนฯ

ศูนย์ฯจะทำหน้าที่ได้ตามที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้หรือไม่?

หากทำไม่ได้ ศูนย์ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น “พระเอก” อาจกลับกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในพริบตา!

บาปเคราะห์ก็จะตกแก่ผู้ถูกกระทำไปโดยปริยาย

และส่งผลให้หลักการคุ้มครองผู้ถูกกระทำซ้ำอย่างต่อเนื่องมาก่อนจนทนไม่ไหว กระทำการตอบโต้ไป ถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไปด้วย เช่นภรรยาถูกสามีเหยียดหยามทำร้ายมาตลอด

จนวันหนึ่งทนไม่ไหว จ้างมือปืนมาฆ่าสามี หรือยิงสามีขณะหลับ กรณีเช่นนี้ภรรยาไม่สามารถอ้างเหตุป้องกันตัวหรือบันดาลโทสะ เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ทั้งๆ ที่ตนเป็นฝ่ายถูกกระทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นทนไม่ไหวจึงก่อเหตุดังกล่าว

แต่ตามกฎหมายใหม่ ภรรยาสามารถยื่นคำแถลงเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ที่สำคัญบทเฉพาะกาลยังให้อานิสงส์ไปถึงผู้ที่ถูกศาลพิพากษาจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและกำหนดโทษใหม่ได้ด้วย

น่าเสียดายที่การคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน “Battered Woman Syndrome” ยังไม่อาจมีผลบังคับใช้ได้

อันเนื่องมาจากการเร่งรีบให้กฎหมายมีผลใช้บังคับ โดยไม่จัดเตรียมความพร้อมของ “หน่วยงาน” และ “บุคลากร” เสียก่อน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้เป็น “เจ้าของ” ร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่?

และย่อมสะท้อนให้เห็นกระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อาจย่อหย่อน
ไร้ประสิทธิภาพไปด้วยหรือไม่?

ที่สำคัญจะต้องนำ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม !?!

ศุกร์ มังกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image