บิ๊กตู่-บีโอไอเล็งดูดนักลงทุนเกาหลีใต้ พร้อมอัดสิทธิประโยชน์จัดเต็ม

เวลา 15.00 น. วันที่ 2 กันยายน 2562 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดงาน“Thailand – Korea Business Forum” โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน พร้อมกับนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี หอการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Chamber of Commerce and Industry) หรือ KCCI และคณะนักลงทุนชั้นนำจากสาธารณรัฐเกาหลีและไทยกว่า 600 คนร่วมงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การมาของคณะเกาหลีในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าไทยเหมาะสำหรับการลงทุนของนักลงทุน โดยการเดินทางมาครั้งนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างกันกว่า 6 ฉบับ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุน โอกาสการลงทุน และขั้นตอนการลงทุนในเกาหลีและไทย สร้างความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ ของทั้งเกาหลีใต้และไทย ในการขยายกิจการไปทั่วโลก รวมถึงสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรมสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของเกาหลีและไทย อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ ไบโอเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ นอกจากนี้จะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นโยบายของเกาหลีมีความสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย ซึ่งจะต้องหาวิธีที่จำดำเนินการร่วมกัน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันให้มากขึ้น โดยรัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของผู้มีรายได้น้อย อาทิ เกษตรกร ที่ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องผลผลิตกับราคาให้เหมาะสม รวมถึงรัฐบาลยังได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ ท่าเรือ สนามบิน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและการลงทุนในอนาคตที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของเกาหลี ที่มุ่งขยายความร่วมมือด้านต่างๆ มาสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนและดำรงตำแหน่งประธานในปีนี้ เห็นว่านโยบายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ ในการสร้างประโยชน์ร่วมกันในอนาคต โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

“ภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม CLMVT ที่ถือเป็นหัวใจที่แท้จริงของอาเซียน ทั้งในด้านความเชื่อมโยง การเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางอนุภูมิภาคนี้ สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ฐานการลงทุน และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และโลกได้อย่างดีเยี่ยม โดยรัฐบาลมุ่งมั่นในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยรัฐบาลได้พัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นฐานการลงทุนที่พร้อมสรรพในทุกด้าน รวมทั้งเร่งเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

Advertisement

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์พิเศษที่จะมอบให้นักธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเกาหลีจำนวนมาก ซึ่งรวบรวมมาเป็นจุดแข็งทั้งหมด 8 ข้อ ที่คาดว่าจะเป็นที่สนใจของนักธุรกิจเกาหลี ได้แก่ 1.ที่ตั้งของประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ที่ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในรัศมี 1,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไปยังประเทศต่างๆ รอบประเทศไทยได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMVT ก็มีประชากรกว่า 200 ล้านคน ที่ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูง รวมถึงมีความน่าสนใจมาก โดยหากมองศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจพบว่ามีจีดีพีโต 8.2% ถือว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมาก และตลาดในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ก็มีศักยภาพที่จะสามารถเติบโตได้มากขึ้น และเป็นฐานการส่งออกที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการส่งออกสูงมาก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพีรวม

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า 2.ไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ รวมถึงสนามบินและท่าเรือต่างๆ ซึ่งถือว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และทันสมัยไม่แพ้ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยในปี 2562-2567 รัฐบาลไทยยังมีแผนที่จะลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 2562-2565 รวมกว่า 6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ 3.มีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่สามารถดึงดูดการลงทุนภูมิภาคของต่างชาติได้ 3.มีอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตที่เข้มแข็ง อาทิ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีผู้เล่นกว่า 2,000 ราย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และปิโตรเคมี ซึ่งเกาหลีมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล่านี้ และไทยก็ต้องการให้มีต่างชาติเข้ามาลงทุนในรายอุตสาหกรรมเหล่านี้มากขึ้น

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า 4.ประเทศมีตลาดขนาดใหญ่ที่สามารถรอบรับและตอบโจทย์ประชาชนกว่า 75% ของประชากรไทยรวมประมาณ 67 ล้านคน ที่มีพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีและออนไลน์มากขึ้น 5.การส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่เข้มแข็ง 6.การมีต้นทุนและความเป็นอยู่ที่ดี 7.มีการพัฒนาทักษะบุคลาการที่มีคุณภาพ เพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 8.รวมถึงการที่ภาครัฐมีนโยบายที่อำนวยความสะดวก และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น

“บีโอไอได้มีการปรับแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การให้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นอากร สินค้าและวัตถุดิบที่นำมาใช้ในงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพราะต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มาก โดยสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาเพิ่ม รวมถึงปีนี้หากมีโครงการการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานและได้รับยกเว้นภาษี 50% อีก 3 ปีต่อไป”นางสาวดวงใจ

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image