ส.ปิโตรเลียมฯลุยโครงการจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างจำลองขาแท่นขุดเจาะ

ส.ปิโตรเลียมฯลุยโครงการจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างจำลองขาแท่นปิโตรเลียม

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ไปติดตามผลการดำเนินโครงการจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างจำลองขาแท่นปิโตรเลียม ที่บริเวณ อ่าวโฉลกหลำ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยโครงการจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างจำลองขาแท่นปิโตรเลียม ดังกล่าวสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีการลงนามบันทึกข้อตกลง กันตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 เพื่อศึกษาวิจัยทดลองการจัดสร้างปะการังเทียมที่ทำจากโครงสร้างเหล็กเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์น้ำ ลดปัญหาการรุกล้ำชายฝั่งของเรือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ผู้ประกอบธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในประเทศไทย 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท มิตซุยออยล์เอ็กซ์โปลเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ จำกัด, บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) หรือ โคสตัล เอนเนอยี่ จำกัด, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จำกัด, บริษัท เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด

นายพงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านโฉลกหลำ ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านพยายามที่จะจัดหาวัสดุต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ แท่งซีเมนต์ ท่อพีวีซี มาจัดวางเป็นแนวปะการังเทียมอยู่แล้ว โดยวัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน ที่เข้ามาทำประมงในบริเวณอ่าวโฉลกหลำ และทำให้ปลาเศรษฐกิจเหลือน้อย ชาวประมงพื้นบ้านทำมาหากินลำบาก ซึ่งเมื่อมีโครงการทำปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กที่จำลองแบบจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม มาจัดวางในบริเวณอ่าวโฉลกหลำ ห่างจากฝั่ง 2 ไมล์ทะเล เบื้องต้นชาวบ้านก็คิดว่าจะมีประโยชน์เฉพาะการป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน ได้ดีกว่าเดิมเท่านั้น ซึ่งก็ได้ผลตามวัตถุประสงค์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5-6 ปี ชาวบ้านเริ่มเห็นชัดว่า ปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กนั้นมีความแข็งแรง คงทนกว่าปะการังเทียมจากวัสดุประเภทอื่น เป็นประโยชน์อย่างมากในการป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน เป็นบ้านขนาดใหญ่ของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ มีปลาเศรษฐกิจเพิ่มจำนวนขึ้นมาก และกลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำ หากมีการวางปะการังเทียมจากขาแท่นจริงในบริเวณนี้ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชาวชุมชนเกาะพะงันเป็นอย่างมาก

Advertisement

ด้าน นายประเสริฐ คงขน ประมงอำเภอเกาะพะงัน กล่าวว่า ชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะพะงัน มีเรืออยู่ประมาณ 300 ลำ เรือประมงพาณิชย์ขนาดเล็ก 10 ลำ ซึ่งได้รับความเดือนร้อนจากเรือประมงพาณิชย์ ขนาดใหญ่ ประเภทเรืออวนลาก อวนรุน ที่กวาดเก็บปลาขนาดเล็กไปจนหมด โดยเมื่อมีการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กจำลองขาแท่นผลิตปิโตรเลียมบริเวณอ่าวโฉลกหลำ 4 แท่น ก็ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านหาปลาได้ง่ายมากขึ้น เพราะหากป้องกันเรือพาณิชย์เข้ามาแย่งปลาจากเรือประมงพื้นบ้านได้สัก 8 เดือน ปลาและสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีเวลาเพียงพอที่จะฟื้นปริมาณให้เพิ่มขึ้น

นายไพฑูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า รัฐควรจะต้องมองเศรษฐกิจในภาพรวมว่า ปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม จะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อชาวเกาะพะงัน ที่จะเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชื่นชอบการดำน้ำจากทั่วโลก และจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากให้กับคนที่อยู่บนเกาะพะงัน ในแต่ละปีจากเดิมที่นักดำน้ำชอบไปที่เกาะเต่า ซึ่งอยู่ใกล้กันและเริ่มมีความแออัดมาก ทั้งนี้การวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นผลิตปิโตรเลียมนั้น เป็นที่ยอมรับกันในทางสากลว่าสร้างประโยชน์ในการฟื้นฟูทรัพยากรให้กับท้องทะเล และการที่ไทยมีแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวนมากที่จะได้รับการรื้อถอนในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในการฟื้นฟูทรัพยากรท้องทะเลอ่าวไทย ที่นับวันจะเริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

ขณะที่ นายจันทร์โชติ พิริยะสถิตย์ ผู้จัดการ บริษัท โลตัสไดว์วิ่ง จำกัด ระบุว่า ที่ผ่านมาการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นผลิตปิโตรเลียม จะทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำแห่งใหม่ที่สำคัญ และยังช่วยลดจำนวนนักดำน้ำออกจากพื้นที่ปะการังธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ผมสนับสนุนการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมมาวางเป็นปะการังเทียม ในจุดที่อยู่ไม่ไกลจากหินใบ และเดินทางจากฝั่งไปถึงโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงนั้น จะเป็นการสร้างจุดดำน้ำแห่งใหม่ที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะช่วยแบ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเกาะพะงันเพื่อจะมาดำน้ำที่หินใบได้ โดยปัจจุบันการที่นักท่องเที่ยวมาดำน้ำที่หินใบในจำนวนที่มากเกินไปนั้น ส่งผลกระทบต่อปะการังธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ” นายจันทร์โชติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image