สศค.ชี้หนี้ครัวเรือนไทยมีคุณภาพ แม้สูงแต่ยังต่ำกว่า ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์สูงปรี๊ดกว่า 100%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงว่าสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 78.7% ต่อจีดีพี ซึ่งถ้าดูเฉพาะตัวเลขดังกล่าวอาจมองว่าสูง แต่การดูหนี้ครัวเรือนต้องไปดูถึงโครงสร้างและองค์ประกอบของหนี้ด้วย โดยพบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยนั้นเป็นสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 42.8% เป็นของแบงก์รัฐ 28.4% ส่วนใหญ่ประมาณ 50% ของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้จากการซื้อบ้านและรถยนต์ซึ่งมีหนี้มีหลักประกัน และเป็นสินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจอีก 16.4%

นายลวรณกล่าวต่อว่า แม้ว่าระดับหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 ของไทยจะอยู่ในระดับสูง แต่ถือได้ว่าลดลงเมื่อเทียบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เคยสูงสุด 81.2% ต่อจีดีพีเมื่อปี 2558 และหนี้ในปีนี้หากหักสินเชื่อธุรกิจนี้ออก ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลงอยู่ที่ 65.8% ของจีพีพีเท่านั้น โดย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต อยู่ในระดับต่ำเพียง6.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด พบว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็มพีแอล) ของหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่ต่ำที่3.3% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562

“ถ้าดูตามตัวเลขข้างต้นพบว่าหนี้ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้มีหลักประกัน และอีกส่วนหนึ่งเป็นหนี้จากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และหนี้ดังกล่าวมาโผล่ในหนี้ครัวเรือน ดังนั้นเมื่อดูจากตัวเลขดังกล่าวหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจึงยังไม่น่ากังวลเท่าใดนัก ถ้าเป็นหนี้จากการบริโภคอย่างเดียวคงต้องน่าเป็นห่วง”นายลวรณ กล่าว

นายลวรณกล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขของสศช.เรื่องหนี้ครัวเรือนจะพบว่าบางประเทศอย่างออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ มีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 100% ประเทศเหล่านั้นยังอยู่ได้ ดังนั้นการดูหนี้ครัวเรือนควรดูในเรื่องคุณภาพหนี้ด้วยว่าเป็นหนี้ลักษณะไหน และกู้ไปเพื่ออะไร อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังไม่นิ่งนอนใจจะดูแลหนี้ครัวเรือนให้ใกล้ชิดมากขึ้นผ่าน 2 มาตรการคือ ทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจเรื่องการบริหารเงิน การบริหารหนี้จะดำเนินการอย่างเข้มข้นจากนี้ไป และจะให้แบงก์รัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลหนี้ครัวเรือน เช่นมาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง และหาสินเชื่อที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ ต้องเป็นสินเชื่อที่เหมาะกับศักยภาพในการใช้จ่ายของคนในกลุ่มนี้

Advertisement

“กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ไม่ได้กังวลว่าหนี้ดังกล่าวจะกระทบต่อเศษฐกิจภาพรวม เพราะดูจากคุณภาพหนี้เกิดขึ้นมองว่าหนี้ดังกล่าวยังพอบริหารจัดการใด้ ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบให้สศค.ทำแผนดูแลหนี้ครัวเรือนและเสนอให้ทราบในเร็วๆ นี้”นายลวรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image