ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุด ลดต่ำสุดรอบ 33 เดือน ถูกปัจจัยลบฉุดเพียบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนสิงหาคม 2562 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ในทุกรายการ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 73.6 จากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 75.0 รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 50.3 มาอยู่ที่ระดับ 49.1 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 214 เดือน หรือ 17 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2544 โดยพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดรอบ 120 เดือนหรือ 10 ปี ตั้งแต่เดือน กันยายน 2552 เช่นกัน โดยเป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 2,242 คน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ดัชนีปรับตัวลดลง มาจากการที่ผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) ที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การออกมาปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของปี 2562 จะโตได้ 3% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะโต 3.6% สาเหตุเพราะการส่งออกที่ชะลอการเติบโตลงมาก และคาดว่าจะติดลบ 1.2% เพราะความกังวลของเศรษฐกิจที่มากขึ้น  ความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้ง รวมถึงราคาพืชผลเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยผลสำรวจภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภค ประจำเดือนสิงหาคมพบว่า ความสุขในการดำเนินชีวิต อยู่ที่ 67.8 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 69.9 ภาวะค่าของชีพ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 50.7 ปัญหายาเสพติด อยู่ที่ 52.2 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 54.0 สถานการณ์ทางการเมือง อยู่ที่ 62.3 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 64.7 โดยดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 64 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 สาเหตุเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ

“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวต่ำลงในทุกรายการอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเอง รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ยังมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก และปัจจัยกระทบต่างประเทศ โดยเฉพาะหากสหรัฐฯมีการทำสงครามการค้ากับจีนมากขึ้น ด้วยจะขึ้นภาษีระหว่างกัน หลักจากขึ้นไปแล้วล่าสุดในช่วงที่ผ่านมา จากปัจจัยดังกล่าวน่าจะทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง จนถึงไตรมาสที่สามของปีนี้แน่นอน ซึ่งแนะนำว่ารัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหากไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นในไตรมาส 4 ได้ จะทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตไม่ถึง 3% มีมากขึ้น”นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ประเมินความเสียหายน่าจะอยู่ที่ 5,000-8,000 ล้านบาท แต่ไม่สูงถึง 10,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน ทำให้คาดว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตอยู่ในกรอบ 3-3.2% เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มีเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลเข้ามาที่ประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท  เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะลงสู่ระบบและเห็นผลในทางปฏิบัติได้ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หลังจากราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้นจากนโยบายประกันรายได้สำหรับความเสียหาย

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนของการใช้นโยบายทางการเงินที่มีความผ่อนคลาย ทำให้หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) ออกมาเปิดเผยว่าหนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก แต่ในบทความของสศค.ระบุว่า หนี้ครัวเรือนต้องสูงกว่า 80% ของจีดีพีรวม จึงจะเป็นระดับที่มีความอันตราย แต่ไทยยังอยู่ที่ระดับ 78.1% ทำให้ยังไม่อยู่ในระดับที่สูงจนน่ากลัว ซึ่งหากในระยะยาวสามารถดันจีดีพีให้โตมากขึ้นได้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะคลายตัวลง

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image