ถังแดง : ความทรงจำบาดแผลที่ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทย

พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557

กว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะสืบหาความจริง โดยเฉพาะจากครอบครัวของแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเป็นตัวแทนเพื่อต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนคนนี้ ว่าหลังจากที่บิลลี่ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวในข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่า 3 ขวด เขาหายตัวไปไหน สาบสูญไปได้อย่างไร โดยทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้เรียกมาตักเตือน และปล่อยตัวไปแล้ว

ภรรยาของบิลลี่พยายามร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษอยู่หลายครั้ง จนสำเร็จในวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ซึ่งกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญสำหรับคดีนี้ DSI ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำ รวมถึงนักประดาน้ำตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา DSI แถลงข่าวความคืบหน้าและยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว โดยพบชิ้นส่วนกระดูกพร้อมหลักฐานต่างๆ รวมถึง “ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน”

ไม่ว่าใครคือฆาตกร แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการ “เผาลงถัง” ในสังคมไทย ในอดีตสังคมไทยเคยมีคำว่า “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” ซึ่งเกิดขึ้นจริง และเป็น “อาชญากรรมโดยรัฐ”

Advertisement

ตัวเหตุการณ์หลายคนคงจะพอรู้ดีอยู่แล้วถึงไทม์ไลน์คร่าวๆ และสิ่งที่เกิดขึ้น “เผาลงถังแดง” เป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่เลือกใช้วิธีการนอกกฎหมายลงโทษผู้คนที่ตัวเองสงสัยว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงทศวรรษ 2510 ลงโทษชาวบ้านที่ตัวเองสงสัย ด้วยการจับพวกเขามาใส่ไว้ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ที่ใส่น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 20 ลิตร ไว้ก้นถัง แล้วก็จุดไฟเผา บางคนตายมาก่อนหน้าที่จะถูกเผา แต่อีกหลายคนถูกเผาทั้งเป็น ด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐ

เหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนาน และไม่มีที่ทางสำหรับเหตุการณ์นี้ในประวัติศาสตร์ฉบับทางการของสังคมไทย แต่ “ความทรงจำ” คือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ และ “จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม” ก็ได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอน : การศึกษากิจกรรมจากความทรงจำกรณีถังแดง ในชุมชนลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง” (พ.ศ. 2552) ของจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม จากคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” โดย สนพ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยานิพนธ์และหนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ไม่ใช่เรื่องที่ผ่านแล้วผ่านเลย แต่กลายเป็นความทรงจำหนึ่งในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกจำในแง่มุมไหนก็ตาม

Advertisement

งานชิ้นนี้ศึกษาถึงกระบวนการสร้างและการจัดการความทรงจำของคนและชุมชนที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชุมชนลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ซึ่งเคยเป็นเขตเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาก่อน และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารส่วนหน้าในการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยมีการปราบปรามด้วยวิธีการเผาลงถังแดง ทำให้เฉพาะในชุมชนลำสินธุ์มีคนตายด้วยวิธีนี้ถึงเกือบ 200 คน แม้ว่าจะเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่เหตุการณ์เผาลงถังแดงเกิดขึ้น โดยปัจจุบันเหตุการณ์ความรุนแรงได้ยุติลงแล้ว แต่สิ่งที่เหลือไว้เป็นความทรงจำที่คนในชุมชนยากจะลืม ผู้ศึกษาได้ใช้แนวคิดเรื่องความทรงจำและเรื่องเล่า (Narrative) เป็นหลักในการศึกษาถึงกระบวนการสร้างและการจัดการความทรงจำในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเรื่องเล่าเป็นเครื่องช่วยอธิบายความคิดความทรงจำของแต่ละคนหรือดูว่าเรื่องเล่าที่ชุมชนผลิตมีลักษณะอย่างไร โดยแนวคิดทั้งสองนั้นถูกวิเคราะห์ผ่านทฤษฎีใหญ่คือ การวิเคราะห์ตามแนวโครงสร้างนิยม ซึ่งมุ่งตรวจสอบการทำงานของเรื่องเล่าหลัก 3 ประเภท ซึ่งมีกระบวนการในการอธิบายเรื่องเล่าและความทรงจำภายใต้โครงสร้างชุดเดียวกัน และศาสตร์การตีความเพื่อใช้ตีความความทรงจำของปัจเจก ว่าขณะที่คนในชุมชนอยู่ในโครงสร้างของเรื่องเล่าหลักและความทรงจำร่วมนั้น พวกเขาตีความและเข้าใจเรื่องเล่าของตนและของชุมชนอย่างไร ผ่านการเล่าเรื่องของพวกเขาเอง โดยได้ศึกษาเรื่องเล่าที่มีลำดับของเรื่องราว สถานะ หรือบทบาทผู้เล่า ช่วงเวลา และลำดับของเรื่องเล่า โดยเฉพาะเรื่องเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในยุคการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ศึกษา

โดยการศึกษาเรื่องเล่านั้นนอกจากจะคำนึงถึงโครงสร้าง องค์ประกอบในเรื่องเล่า ลำดับเวลา ผู้เล่า ผู้ฟัง ปฏิสัมพันธ์ บริบท ท่วงทำนองและจังหวะแล้วนั้น ก็ยังเห็นว่าการทำความเข้าใจเรื่องเล่าเหล่านั้น ควรใช้วิธีการที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจความหมายที่ผู้ถูกศึกษาพยายามบอกแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจมายาคติและอคติที่ผู้ศึกษามีเองด้วย ซึ่งทำให้การตีความมีความรอบด้านและถี่ถ้วนมากขึ้น นอกจากนี้ยังศึกษาอนุสาวรีย์ วิทยุชุมชน เครือข่าย เพราะองค์ประกอบวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ตกผลึกมาจากความทรงจำ และมีผลต่อคน อีกทั้งยังเป็นทั้งสัญลักษณ์และความทรงจำที่ส่งผลต่อเรื่องเล่าในปัจจุบันอีกด้วย

ซึ่งผลการศึกษาน่าสนใจมาก อยากชวนให้ไปอ่านกันจริงๆ มีความอิหลักอิเหลื่อของชุมชน ความเทาๆ มัวๆ ของความทรงจำ และการจัดการความทรงจำของชุมชนที่ซับซ้อนและน่าสนใจมาก

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนไว้ในคำนิยมของหนังสือว่า หนังสือเล่มนี้สำคัญอย่างมากต่อการครุ่นคิดถึงอนาคตของสังคมไทย ที่จะอย่างไรก็ต้องย่ำเดินไปบนร่องรอยแห่งความรุนแรงในอดีต

โมเดลปราบปรามไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่อย่างที่เห็น ไม่ว่าใครจะเป็นฆาตกรก็ตามที

เป็นความทรงจำบาดแผล ที่ขยายจากที่หนึ่ง ไปสู่อีกที่หนึ่ง และทิ้งรอยย้ำความเจ็บปวดของผู้คนไว้อย่างยากจะลบเลือน

โดย สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image