พณ.กระจายข้าวเหนียวลดค่าครองชีพล็อตแรก2.6แสนถุง ภายใน2สัปดาห์ครบ59 จว.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เริ่มปล่อยรถกระจายข้าวสารเหนียวบรรจุถุง”กรมการค้าภายใน”เพื่อลดค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน โดยล็อตแรกจัดทำ 1,000 ตัน บรรจุแล้ว 2.6 แสนถุง ใน 2 ขนาด คือ บรรจุ 2 กิโลกรัม ราคา 70 บาทหรือกิโลกรัมละ 35 บาท และบรรจุ 5 กิโลกรัม ราคา 160 บาท หรือกิโลกรัมละ 32 บาท จำหน่ายในร้านธงฟ้าทั่วไป ที่ให้ประชาชาทั่วไปได้ซื้อในราคาถูกกว่าตลาด และวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถซื้อหาได้เพิ่มอีกช่องทาง โดยกำหนดให้มีการกระจายให้ครบ 59 จังหวัดภายใน 2 สัปดาห์

“ โดยกระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายผลิต 3 พันตัน เริ่มจากล็อตแรกพันตันก่อน เพื่อดูความต้องการตลาด ก่อนเพิ่มจำหน่ายในล็อตสอง และเพื่อให้สินค้ามีเพียงพอทั่วถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อยสำหรับผู้บริโภคข้าวเหนียวได้จำกัดการซื้อ โดยขนาด 5 กิโลกรัมให้ซื้อได้คนละ 1 ถุง หรือ ขนาด 2 กิโลกรัม คนละไม่เกิน 3 ถุง “ นายจุรินทร์ กล่าวและว่า ขณะนี้มียอดสั่งซื้อตามร้ารค้าแล้วกว่า 1,400 แห่ง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การจัดทำข้าวสารเหนียวในราคาถูกกว่าตลาด เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชนที่เดือดร้อนกับราคาข้าวเหนียวสูงต่อเนื่อง ที่มีสาเหตุจากผลผลิตลดลงจากภัยแล้ง บางส่วนหันปลูกข้าวหอมมะลิ และเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต ขณะที่ความต้องการสูงต่อเนื่อง จึงมีผลต่อราคาข้าวเปลือกเหนียวเพิ่มจาก 9,500 บาท/ตัน เป็น 17,000-18,000 บาทต่อตันในช่วงเดียวกัน ข้าวสารเหนียวเพิ่มจาก 19,000 บาท/ตัน เป็น 41,000 บาทต่อตันในช่วงเวลาเดียวกัน หรือ ราคาข้าวสารเหนียวในท้องตลาดจาก 23-24 บาท/กิโลกรัม เป็น 45 บาทต่อกิโลกรัม

“ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่ประสบน้ำท่วมและแล้งก่อนหน้านี้ ว่ามีผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตอย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์ข้าวเหนียวในการกำหนดแผนบริหารจัดการอย่างไร และนำไปประเมินในแนวทางโครงการประกันรายได้ข้าว ที่ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในปลายเดือนนี้ “ นายจุรินทร์ กล่าว

Advertisement

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกข้าวเหนียวที่ประสบภัยธรรมชาติ พบว่า ปริมารผลผลิตปี 2562/63 น่าจะใกล้เคียงปีนี้ ที่มีผลผลิตประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก และแปรรูปข้าวสารเหนียว 3 ล้านตัน ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ ส่วนส่งออกประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image