‘ดีอี’ เขยื้อน ‘บิ๊กดาต้าท่องเที่ยว’ เชื่อ 3 กลุ่มได้ประโยชน์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การผลักดันการจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ควรเริ่มทำทีละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยจะเริ่มจากด้านการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญและเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยปี 2561 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.08 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของโลก

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้หารือร่วมกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด เป็นต้น เพื่อประสานขอข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ค่อนข้างครบถ้วน มารวบรวมและกำหนดเป้าหมายในการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“การจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านการท่องเที่ยว จะเกิดประโยชน์กับ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ภาครัฐ ที่ใช้ในการวางแผนการจัดสรรงบประมาณ อาทิ จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้มีการบริการจัดการที่ดีขึ้น ส่วนในจังหวัดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวหรือมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปน้อย รัฐบาลสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาในการเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าตราบใดที่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณลงไปกระตุ้น จังหวัดนั้นๆ ก็ยังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นเมืองรองหรือเป็นเมืองทางผ่านต่อไป 2.ภาคธุรกิจ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการดำเนินธุรกิจ และ 3.ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการท่องเที่ยวและคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทาง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ช่วงแรกน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ในการรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เชิงลึกโดยนักวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านนี้อย่างมาก จึงมีการประสานไปยังหลายหน่วยงานเพื่อขอความร่วมมือ ซึ่งเบื้องต้นมีนักวิเคราะห์จำนวน 4-5 ราย จะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ และจากนี้จะมอบให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า ทำหน้าที่ค้นหาและพัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมารองรับความต้องการที่มีอยู่อย่างมาก

Advertisement

“ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามในการจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าภาครัฐ แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะมีการกำหนดกรอบการจัดทำที่กว้างเกินไป ประกอบกับข้อมูลมีความหลากหลายจึงเป็นเรื่องยากในการจัดการ ดังนั้น จึงมองว่าการเริ่มทำทีละด้านจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น และทำให้การจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าภาครัฐเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งหลังจากด้านการท่องเที่ยว จะต่อยอดไปยังด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล รวมถึงด้านการนำเข้าและส่งออก ต่อไป” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image