รื่นร่มรมเยศ : ท้าวจตุโลกบาล(2) โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ท้าวโลกบาลองค์ที่สองที่จะกล่าวถึงคือท้าววิรุฬหกะ หรือคนไทยเรียกว่าวิรุฬหก เป็นเทพปกครองประจำทิศทักษิณหรือทิศใต้ ไม่ทราบว่า “แหลงตาย” ได้เหมือนท่านอดีตนายกฯ ชวนหรือเปล่า “วิรุฬหก” ว่ากันว่ามีฤทธิ์มาก เป็นหัวหน้าพวกกุมภัณฑ์

กุมภัณฑ์เป็นชื่อยักษ์ประเภทหนึ่ง มีรูปร่างพิลึกกึกกือ กำยำล่ำสัน นั่นใช่ละ เพราะไม่เคยได้ยิน

ยักษ์ที่ไหนรูปร่างผอมมะก้องด้อง

แต่ที่ประหลาดจนต้องให้ “ตามไปดู” ก็คือยักษ์พวกนี้มีอัณฑะโตเท่าหม้อ ก็คงหมายเอาหม้อขนาดใหญ่ทีเดียว ถ้าหม้อเล็กก็ไม่ประหลาดสิครับ (กุมภ = หม้อ + อัณฑะ = กุมภัณฑะ)

Advertisement

พระคัมภีร์มิได้บอกว่ายักษ์พวกนี้ไปไหนมาไหนไม่ลำบากแย่เหรอ มัวกังวลลากไข่เดินขากางอยู่ คงเคลื่อนไหวลำบากพิลึก หรืออย่างไร

และไม่ได้บอกด้วยว่าท้าววิรุฬหกผู้เป็นนายมีไข่ขนาดเดียวกันหรือเปล่า ถ้าขืนขนาดเล็กกว่าลูกน้อง อาจถูกลูกน้องดูถูกเอาก็ได้นา หรืออย่างไร

ก็ได้แต่ตั้งคำถาม “หรืออย่างไร” อย่างนี้แหละครับ เพราะไม่รู้จริงๆ

Advertisement

ท้าวโลกบาลองค์ที่สามคือ “ท้าววิรูปักขะ” หรือไทยเรียกว่าท้าววิรูปักษ์ เป็นใหญ่เหนือพวกนาค ประจำอยู่ทางทิศตะวันตก

นาคคืออะไร ดูเหมือนจะสับสนกันมาก แต่ท้ายที่สุดก็เอา “นาค” มาพัวพันกับ งูใหญ่ทันที

ในพระวินัยปิฎกกล่าวไว้ว่ามีนาคตนหนึ่งปลอมมาบวช เพราะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ก็บวชให้ เมื่อเธอนอนหลับร่างกายก็กลายเป็นงูใหญ่ พระรูปอื่นเห็นเข้าก็ร้องเสียงหลง พระพุทธเจ้าจึงเรียกพระ (นาคจำแลงกาย) รูปนั้นมารับสั่งให้สึกเสีย เพราะสัตว์เดียรัจฉานบวชไม่ได้

เรื่องในพระวินัยปิฎกจบแค่นี้ แต่มีผู้แต่งต่อว่า นาคตนนั้นขอร้องพระพุทธเจ้าว่า

ต่อไปถ้าใครจะบวช ก็ขอให้เรียกผู้นั้นว่า “นาค” เถิด เพื่อเป็นที่ระลึกถึงข้าพระพุทธองค์ ผู้ไม่มีวาสนาได้บวชในพระศาสนาของพระองค์ต่อไป พระพุทธเจ้าก็ทรงรับ แล้วให้เรียกผู้จะบวชว่า “นาค” ตั้งแต่นั้นมา ว่ากันอย่างนั้น

หลังตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นจิก ฝนตกพรำๆ 7 วัน นาคชื่อมุจลินก็มาแผ่พังพานบังลมและฝนให้ พอฝนหยุดแล้วจึงจำแลงกายเป็นมาณพน้อยยืนประนมมือไหว้พระองค์อยู่ จนชาวพุทธเอาเหตุการณ์นี้มาสร้างพระพุทธรูปางนาคปรกต่อมา

นาคที่กล่าวถึงนี้ว่ากันว่าเป็นสัตว์พิเศษชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์มากสามารถจำแลงแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ แต่ตามปกติเป็นงูใหญ่ อยู่ในนาคพิภพ (ที่ไหนไม่รู้) ว่ากัน
อย่างนั้น

นาคพวกนี้กระมังที่เป็นบริวารของท้าววิรูปักษ์

แต่ถ้ามองในแง่มานุษยวิทยา นาคหรือนาคาเป็นมนุษย์เผ่าหนึ่งที่ยังมีวัฒนธรรมล้าหลังมาก อาศัยอยู่ตามภูเขา ล่าสัตว์กินเป็นอาหาร

มนุษย์เผ่านี้พระพุทธเจ้าคงจะเห็นว่ายัง “ป่าเถื่อน” อยู่ จึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช ดุจเดียวกับมนุษย์กินคนที่มีชื่อว่ายักษ์ ฉะนั้น

พวกนาคานี้นับถืองู ต่อมาเมื่อพูดถึงคำว่านาคหรือนาคา จึงหมายถึงงูเท่านั้น

ที่จริงคำว่า “นาค” หรือ “นาคา” นั้นตามศัพท์จริงๆ แปลว่า ผู้อยู่บนภูเขา (นค = ภูเขา, นาค = คนที่อยู่บนภูเขา) ไม่ได้แปลว่างูแต่ประการใด

นี่คือข้อสังเกตในแง่หลักภาษา

มหาราชองค์ที่สี่คือ “ท้าวเวสสวัณ” เขียนว่าเวสสุวรรณก็มี อีกชื่อหนึ่งว่ากุเวร

ท้าวเวสสุวรรณเป็นเจ้าแห่งพวกยักษ์ ประจำอยู่ทิศอุดรหรือทิศเหนือ ว่ากันว่าท้าวกุเวรนี้ปกครองพื้นที่กว้างขวางกว่าเทพองค์อื่น เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์หรือ “เทพเสี่ย” ว่าอย่างนั้นเถอะ

บริวารของท้าวเวสสุวรรณล้วนแต่นักเลงโต มีอิทธิฤทธิ์ทั้งนั้น แต่ท้าวเวสสุวรรณก็คุมอยู่ เพราะนอกจากจะมีอำนาจแล้วยังมีเงินมาก ใจป้ำ แจกไม่อั้นด้วย

พูดไปแล้วก็เป็นของธรรมดา คนที่เป็นใหญ่ต้องมีทั้งเงินทั้งอำนาจจึงจะกำหัวใจลูกน้องไว้ได้

พวกยักษ์มักจะไปรบกวนรังแกพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ไปนั่งกรรมฐานในป่าอยู่ทุกบ่อย

ดังปรากฏครั้งหนึ่ง ขณะพระสารีบุตรกำลังนั่งเข้าฌานอยู่ มียักษ์ตนหนึ่งแกล้งเอากระบองไปตีศรีษะท่านเบาๆ ทำนองล้อเล่น

เบาแบบยักษ์ แต่ว่ามันหนักสิครับ เพราะยักษ์แกหมัดหนักยิ่งกว่าเขาทราย จนพระเถระมึนไปเลย

ท้าวเวสสุวรรณกลัวว่าบริวารเกเรบางตนของแกจะไปก่อเรื่อง สร้างความลำบากให้แก่บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย จึงชวนท้าวโลกบาลที่เหลือพร้อมบริวารเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เขาคิชฌกูฏ สวดอาฏานาฏิยรักขา (มนต์ป้องกันตัวชื่ออาฏานาฏิยา) ให้พระพุทธองค์ฟังแล้วกราบทูลว่า

ขอให้พระองค์ให้สาวกของพระองค์ท่องมนต์บทนี้ขณะอยู่ในป่า เพื่อป้องกันมิให้พวกยักษ์ทั้งหลายมาทำร้าย เพราะพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าอยู่ประจำในป่า พวกยักษ์เกเรที่ไม่เลื่อมใสไม่เคารพ พระเคารพเจ้าก็มี เมื่อได้ยินมนต์บทนี้แล้วก็จะเกรงใจ ไม่กล้าทำอันตราย

พระพุทธเจ้าจึงได้ประชุมสงฆ์ รับสั่งให้ท่องมนต์ดังกล่าว ว่ากันอย่างนั้น

จึงเป็นธรรมเนียมมาจนบัดนี้ว่า ชาวพุทธทั้งหลายจัดให้มีการสวดมนต์บทที่เรียกว่าอาฏานาฏิยานี้ประมาณเดือนสี่เดือนห้าของทุกปี เรียกกันว่า “สวดภาณยักษ์” เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ

แต่เดี๋ยวนี้ประเพรณีนี้ค่อยจางไปแล้ว ยังคงมีทำอยู่ก็เฉพาะต่างจังหวัด หรือจังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ

มีคนพูดว่าบทสวดนี้ไม่ใช่พุทธแท้ คงเพิ่มเติมมาภายหลังแต่พิเคราะห์เนื้อหาแล้วเป็นบทกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ มีพระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นต้น

จะขับไล่ยักษ์มารได้จริงหรือไม่ มิใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญก็คือ เมื่อสวดประจำย่อมสามารถไล่ยักษ์ภายใน คือ โลภ โกรธ หลง ออกจากใจได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image