เรียนรู้ สู้ไข้หวัดใหญ่ในหน้าฝน โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

เข้าสู่ฤดูฝน สุ่มเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัด มีข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะช่วยให้ปลอดภัยจากโรคได้ ไปติดตามครับ

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu) : เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศ ทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน บางปีอาจพบมีการระบาด พบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยผู้ใหญ่ที่มีอาการตัวร้อนมา 2-3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะผิดพลาดได้

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อ (แบบเดียวกับไข้หวัด) ระยะฟักตัว : 1-4 วัน เชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ เรียกว่า ชนิดเอ, บี และซี ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ ออกไปอีกมากมาย ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากพันธุ์ย่อยเพียงอย่างเดียว เมื่อเป็นแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อพันธุ์นั้นๆ แต่ไม่สามารถคุ้มกันต่อพันธุ์อื่นๆ ได้ จึงอาจติดเชื้อจากพันธุ์ใหม่ได้อีก เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์ อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ และมีการเรียกชื่อโรคระบาดแต่ละครั้งตามชื่อของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง เรียกสั้นๆ ว่าไข้หวัดฮ่องกง หรือหวัดฮ่องกง ไข้หวัดรัสเซีย ไข้หวัดสิงคโปร์ เป็นต้น

อาการ : มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาวๆ ร้อนๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง ส่วนอาการไอและอ่อนเพลียอาจจะเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการวิงเวียนเหมือนเมารถเมาเรือ เนื่องจากอาการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งมักจะหายเองภายใน 3-5 วัน

Advertisement

สิ่งตรวจพบ : ไข้ 38.5-40 องศา หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจมีน้ำมูกใส คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลยทั้งๆ ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่นๆ
อาการแทรกซ้อน : ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมพอง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดจากแบคทีเรียพวก นิวโมค็อกคัส หรือสแตฟฟีโลค็อกคัส (เชื้อชนิดหลังนี้มักจะทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงถึงตายได้) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงตายได้นั้นนับว่า น้อยมาก มักเกิดในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรังที่ร่างกายอ่อนแอ
อยู่ก่อน

การรักษา : 1.ให้การดูแลปฏิบัติตัว และรักษาตามอาการเหมือนไข้หวัด คือ นอนพักมากๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง กินอาหารอ่อน (ข้าวต้ม โจ๊ก) ดื่มน้ำและน้ำหวานหรือน้ำผลไม้มากๆ ให้ยาลดไข้แก้ปวด ในเด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรมได้ ถ้าไอให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาวหรือยาแก้ไข เป็นต้น 2.ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้เพราะเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส จะให้ต่อเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีน้ำมูกหรือเสลดสีเหลืองหรือเขียว ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น ยาปฏิชีวนะที่มีให้เลือกใช้ได้แก่ เพนวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน 3.ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยปอดอักเสบ โดยเฉพาะถ้าพบในผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ฯลฯ ถ้าพบว่าเป็นปอดอักเสบ ก็ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ

ข้อแนะนำ : 1.โรคนี้ถือว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง ส่วนมากให้การดูแลการรักษาตามอาการก็หายได้เองภายใน 3-4 วัน ข้อสำคัญต้องนอนพัก ดื่มน้ำมากๆ และห้ามอาบน้ำเย็น ถ้าไข้ลดลงแล้วควรอาบน้ำอุ่นอีก 3-5 วัน ในรายที่ไม่ได้พักผ่อน หรือตรากตรำทำงานหนัก อาจหายช้า หรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ 2.อาการไข้สูงและปวดเมื่อยโดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจน อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ ในระยะเริ่มแรกก็ได้ เช่น ไทฟอยด์ ไทฟัส ตับอักเสบจากไวรัส ไข้เลือดออก หัด มาลาเรีย เล็บโตสไปโรซิส เป็นต้น จึงควรสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการอื่นๆ ปรากฏให้เห็นก็ควรให้รักษาตามโรคที่สงสัย ถ้าหากมีไข้นานเกิน 7 วัน มักจะไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ แต่อาจมีสาเหตุโรค
อื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ ไทฟัส มาลาเรีย วัณโรคปอด เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน 3.ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะแยกกันไม่ออก แต่ก็ให้การดูแลรักษาเหมือนๆ กัน

Advertisement

การป้องกัน : การป้องกันให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มักจะฉีดในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ซึ่งจะป้องกันได้นานประมาณ 12 เดือน ถ้ามีการระบาดในปีต่อๆ ไป ก็ต้องฉีดใหม่อีก โดยทั่วไปถ้าไม่มีการระบาด จะไม่ฉีดวัคซีนให้แก่คนทั่วไป ทั้งนี้ เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่หลายพันธุ์ เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าการระบาดครั้งต่อไปจะเกิดจากเชื้อชนิดใด ในแง่ปฏิบัติจึงไม่นิยมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กัน ยกเว้นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี ผู้ป่วยเบาหวาน โรคเรื้อรังทางปอดหรือหัวใจ หรือภาวะไตวาย บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่จะเดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่มีกิจกรรมจำเป็น เช่น ตำรวจ นักแสดง นักศึกษา นักเดินทาง ที่ไม่อาจหยุดงานได้ ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีอาการคล้ายกัน และให้การรักษาแบบเดียวกัน

คออักเสบ (Pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) : การอักเสบภายในลำคอและทอนซิล มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้มีไข้สูงและเจ็บคอ คออักเสบที่เกิดจากไวรัสที่พบได้บ่อย คือ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ พวกนี้มักจะมีน้ำมูกใสๆ ทอนซิลไม่แดงมากและไม่มีหนอง เมื่อพูดถึงทอนซิลอักเสบ (ต่อมทอนซิลอักเสบก็เรียก) เรามักจะหมายถึง
การอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อบีตาสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ซึ่งอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กวัยเรียน และพบได้เป็นครั้งคราวในผู้ใหญ่

สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญ คือ เชื้อแบคทีเรียที่มี ชื่อว่า บีตาสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta streptococcus group A) ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติก และกรวยไตอักเสบ ติดต่อโดยการหายใจ ไอหรือจามรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด ระยะฟักตัวประมาณ 15 วัน

อาการ : ในระยะที่เป็นเฉียบพลัน จะมีไข้สูงเกิดขึ้นทันทีทันใด และมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัว หรือหนาวสะท้าน รู้สึกแห้งผากในลำคอ หรือเจ็บในคอมาก บางรายเจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก ในเด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียน ไอ ปวดท้อง หรือท้องเดินร่วมกัน บางรายอาจมีไข้สูงจนชัก หรือร้องกวนไม่ยอมนอน บางครั้งอาจเห็นมีก้อนบวมและเจ็บ (ก้อนลูกหนูหรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบ) ที่บริเวณใต้คางข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ในรายที่เป็นเรื้อรัง จะมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะน้อย มักไม่มีไข้ หรือบางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ

สิ่งตรวจพบ : ไข้สูงในรายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักจะพบทอนซิลบวมโต มีสีแดงจัด และมีหนองขาวๆ เหลืองๆ เป็นจุดๆ อยู่บนทอนซิล ซึ่งเขี่ยออกง่าย ถ้าพบเป็นแผ่นขาวปนเทา ซึ่งเขี่ยออกยาก และมีเลือดออก ควรนึกถึงคอตีบ นอกจากนี้ อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางบวมและเจ็บ ในรายที่มีทอนซิลโตมากๆ จนดันลิ้นไก่เบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ควรนึกถึงโรคฝีของทอนซิล ในรายที่เป็นเรื้อรัง พบว่าทอนซิลโตผิวขรุขระแต่ไม่แดงมาก และพบตุ่มน้ำเหลืองบนผนังคอเป็นลักษณะแดงเรื่อ และสะท้อนแสงไฟ ต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางมักจะโต และเจ็บเรื้อรัง

อาการแทรกซ้อน : 1.เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงทำให้หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ฝีทอนซิล (peritonsillar absces) ปอดอักเสบ 2.เชื้ออาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบ เป็นหนอง (osteomyelitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 3.โรคแทรกที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติกและกรวยไตอักเสบซึ่งมักจะเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์ โรคแทรกเหล่านี้เกิดจากปฏิกิริยาจากแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อบีตาสเตรปโตคอกคัสกลุ่มเอ ต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

การรักษา : 1.แนะนำผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนและดื่มน้ำหวาน
บ่อยๆ ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง 2.ให้ยาลดไข้เด็กเล็กที่เคยชักให้ยากันชัก 3.ในรายที่ทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทอนซิลมักจะมีลักษณะสีแดงจัดหรือจุดหนองหรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางบวมและเจ็บ ให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ตัวที่แนะนำคือ เพนวี หรืออะม็อกซีซิลิน ถ้าแพ้ยาให้ใช้อีริโทรไมซินแทน ใช้ยาสัก 3 วันดูก่อน ถ้าดีขึ้นควรให้ต่อจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรครูมาติก หรือกรวยไตอักเสบแทรกซ้อน 4.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3 วัน กินยาไม่ได้ หรือสงสัยมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง ในแนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือด เพาะเชื้อ เอกซเรย์ ฯลฯ ในรายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และไม่มีประวัติการแพ้เพนิซิลลิน อาจต้องใช้ยาฉีดประเภทเพนิซิลลินที่สะดวก ได้แก่ เบนซาทีน เพนิซิลลิน (benzathine penicilin) หรือเพนาเดอร์ (Penadur) ซึ่งใช้ยาฉีดเพียงเข็มเดียวเท่านั้น ถ้าเป็นฝีทอนซิลอาจต้องผ่าหรือเจาะหนองออก 5.ในรายที่เป็นเรื้อรัง ควรแนะนำไปโรงพยาบาลอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy) ถ้าเป็นปีละ
มากกว่า 4 ครั้งขึ้นไป จนเสียงานหรือหยุดเรียนบ่อย หรือมีอาการอักเสบของหูบ่อยๆ นอกจากนี้ ในรายที่เป็นฝีทอนซิลแทรกซ้อน อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล เพราะถ้าทิ้งไว้ก็อาจจะมีการอักเสบเรื้อรังได้ การผ่าตัดทอนซิลมักจะทำในช่วงอายุ 6-7 ปี

ข้อแนะนำ : 1.โรคนี้พบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กบางคนอาจเป็นได้บ่อย แต่เมื่อโตขึ้นร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น ก็อาจค่อยๆ เป็นห่างขึ้นไป 2.อาการเจ็บคออาจมีสาเหตุได้หลายประการ ไม่จำเป็นต้องเป็นทอนซิลเสมอไป ดังนั้นถ้าพบคนที่มีอาการเจ็บคอ ควรซักถามอาการอย่างละเอียด และตรวจดูคอทุกราย เพื่อแยกแยะสาเหตุ 3.ถ้าสงสัยว่าเกิดจากเชื้อบีตาสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น มีไข้สูงร่วมกับทอนซิลโตแดงหรือเป็นหนอง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางบวมและเจ็บ ควรให้เพนิซิลลินวี
หรืออะม็อกซีซิลลิน หรืออีรีโทรไมซิน ให้ได้ครบ 10 วันเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันมิให้เกิดไข้รูมาติก หรือกรวยไตอักเสบแทรกซ้อน

การรักษาอย่างผิดๆ หรือกินยาไม่ครบขนาด เช่น ซื้อยาชุดนี้กินเอง ถึงแม้ว่าจะช่วยให้อาการทุเลาแต่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ สำหรับไข้รูมาติก ซึ่งพบมากในช่วงอายุ 5-15 ปี ถ้าไม่ได้รักษาหรือปล่อยให้เป็นเรื้อรัง จะทำให้เกิดโรคหัวใจรูมาติก (rheumatic heart desease) หรือลิ้นหัวใจซึ่งทำให้สิ้นเปลืองเงินทองและเวลามาก

การป้องกัน : ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด และหมั่นรักษาสุขภาพฟันและช่องปาก โปรดติดตามโรคที่มากับหน้าฝน ซึ่งมีอาการรุนแรงมากขึ้นฉบับหน้า ตอน 3 นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image