กรอ.จับมือเนโดะเร่งทดสอบรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วยทำคลอดกม.กำจัดซากฯ

กรอ.จับมือเนโดะเร่งทดสอบรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้า สอดรับกม.กำจัดซากฯที่ก.ทรัพกำลังพิจารณา หลังโดนเอกชนสับจนกม.ค้างเติ่ง

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือด้านการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกรอ.กับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม(เนโดะ) ประเทศญี่ปุ่น ว่า ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ให้เกิดความรู้และเป็นต้นแบบในการกำจัดซากขยะอิเลคทรอนิคส์ในประเทศไทย โดยเนโดะจะนำเทคโนโลยีการกำจัดขยะอิเล็ทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่นมาติดตั้งในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราใช้กำจัดขยะในพื้นที่ ตั้งเป้ากำจัดขยะได้ 100 ตันต่อเดือน ระยะเวลาการสาธิตจะเริ่มตั้งแต่ปี 2562 – 2564 วงเงินช่วยเหลือจากเนโดะ 120 ล้านบาท

นายทองชัย ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการกำจัดขยะอิเลคทรอนิกส์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันขยะอิเลคทรอนิคส์ในไทยเพิ่มขึ้น ล่าสุดมีมากกว่าปีละกว่า 4 แสนตัน และส่วนใหญ่ต้องส่งออกไปกำจัดในประเทศญี่ปุ่นสำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโครงการสาธิตเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแยกโลหะที่มีค่าเพื่อนำไปใช้งานต่อ ที่สำคัญเป็นการเตรียมพร้อมรองรับกฏหมายการกำจัดขยะอิเลคทรอนิคส์ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…. ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังไม่ผ่านการพิจารณาเพื่อบังคับใช้ตามกฎหมาย แม้จะมีความพยายามจากภาครัฐและประชาสังคมในการผลักดันให้สำเร็จ แต่ภาคเอกชนคัดค้านอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหากฎหมายกำหนดบทลงโทษกรณีเอกชนไม่มีแผนกำจัดซากฯ ขณะที่เอกชนมองว่าในตัวบทกฎหมายก็ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการคัดแยกซากฯ อาทิ ประเภทโหละมีค่าที่เกิดจากการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ค่าใช้จ่ายในการคัดแยกที่คำนวณจากต้นทุนแท้จริง จึงเป็นสาเหตุให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรอ.ต้องดำเนินการส่วนนี้ให้ชัดเจน ต้องมีรายละเอียดโดยเฉพาะต้นทุนการกำจัดที่เหมาะสม และตอบคำถามทุกฝ่ายได้

Advertisement

“ในกฎหมายการกำจัดซากฯ กรอ.จะมีหน้าที่ดูแลการจำกัดซากฯทั้งระบบ รวมทั้งกำกับดูแลเอกชนที่เป็นผลิตสินค้าต้นทางให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการกำจัดอย่างถูกต้อง ดังนั้นกรอ.จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ก่อนนำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยสาเหตุที่เลือกญี่ปุ่น เพราะเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของไทย หากประสบความสำเร็จ เอกชนไทยที่สนใจสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่นได้”รายงานข่าวระบุ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image