“รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนกลาง) โดย เกษียร เตชะพีระ

"รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก" (ตอนกลาง)

“รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนกลาง)

ระหว่างผมกำลังนั่งอ่านนั่งคิดเรื่อง “รัฐพันลึก” (Deep State) ของไทยจากข้อเขียนของ อาจารย์เออเชนี เมริโอ, ผาสุก พงษ์ไพจิตร และนิธิ เอียวศรีวงศ์ อยู่นั้น มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เรียนกับผมคนหนึ่งเอาภาพถ่ายเก่าที่เขาพบเข้าโดยบังเอิญมาโพสต์ไว้บนหน้าเฟซบุ๊ก (ดูรูป)

ภาพนี้ดลใจให้คิดถึงสิ่งที่ผมใคร่เรียกว่า “สังคมพันลึก” (Deep Society) อันเป็นคู่ประกบประชันต่อสู้ขัดแย้งทัดทานกับ “รัฐพันลึก” มาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่!

มันเป็นภาพงานอภิปรายที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในโอกาส ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี องคมนตรีและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม ราว พ.ศ.2526 โดยปรากฏผู้ร่วมเวทีอภิปรายบางท่านได้แก่ :-

คุณมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีหลายกระทรวงแห่งพรรคประชาธิปัตย์ อดีตกบฏสันติภาพ พ.ศ.2494

Advertisement

คุณสุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร นักเขียนนิยาย บทละครและแต่งเพลงชื่อดัง อดีตคอมมิวนิสต์ลาดยาว พ.ศ.2501

อาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สมัยยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวผมดกงามอยู่

และ คุณสุภา ศิริมานนท์ ผู้อาวุโสแห่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยและนักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองแคปิตะลิสม์ของมาร์กซ์ อดีตเจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์นอันเป็นประทีบปัญญาก้าวหน้าล้ำยุคแห่งพุทธทศวรรษที่ 2490 อดีตผู้ต้องสงสัยกบฏสันติภาพ พ.ศ.2494

แน่นอนว่าสายสัมพันธ์เฉพาะหน้าที่เชื่อมโยงท่านเหล่านี้ให้มาร่วมกิจกรรมบนเวทีเดียวกันในวาระนั้นได้แก่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ โดยที่คุณสุภาได้เคยทำงานเป็นผู้ช่วยใกล้ชิดอาจารย์ปรีดีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อคุณสุภาลงทุนลงแรงจัดทำเผยแพร่นิตยสารอักษรสาส์น (พ.ศ.2492-2495) จนป่วยหนักเป็นวัณโรคและโรคกระเพาะอาหารแทบสิ้นชีวิต ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่องแสงสว่างทางปัญญาให้แก่นักศึกษา มธก. ท่ามกลางความมืดมิดของระบอบเผด็จการทหารที่หวนกลับมาคุกคามหลังรัฐประหาร 2490 นั้น

มือกวีหลักเจ้าประจำของอักษรสาส์นได้แก่ “ทวีปวร” หรือ คุณทวีป วรดิลก น้องชายของคุณสุวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษา มธก. และเคลื่อน ไหวทำกิจกรรมนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่จนถูกเล่นงานคราวกบฏสันติภาพและลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาพร้อมกับ คุณมารุต บุนนาค ในปี พ.ศ.2494 นั่นเอง

คุณทวีปยังเป็นเพื่อนกับ จิตร ภูมิศักดิ์ เจ้าของผลงานบทความขนาดยาว “โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ในนามปากกา “สมสมัย ศรีศูทรพรรณ” ที่คุณทวีปช่วยรับต้นฉบับและจัดพิมพ์ออกมาครั้งแรกในวารสาร นิติศาสตร์ รับศตวรรษใหม่ (ปีที่ 7 ฉบับที่ 4, 2500)

โดยที่ทั้งคู่รวมทั้ง ทนายทองใบ ทองเปาด์ ผู้จบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และร่วมงานหนังสือพิมพ์มากับคุณทวีป อีกทั้งยังเคยไปใช้บริการรับเลี้ยงเด็ก ณ กระท่อมปักเป้าของ คุณจินดา ศิริมานนท์ ภรรยาคุณสุภาด้วยนั้น ล้วนถูกกวาดล้างจับกุมคุมขังอยู่หลายปีโดยเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์แห่งคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ พ.ศ.2501 และคุณทองใบเขียนเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นไว้ในหนังสือชื่อดัง คอมมิวนิสต์ลาดยาว (2517)

จากรุ่นคณะราษฎร 2475 เชื่อมต่อมายังรุ่นเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง, รุ่นกบฏสันติภาพ 2494, รุ่นคอมมิวนิสต์ลาดยาว 2501

ก่อนที่จะโยงใยเข้ากับรุ่นคนเดือนตุลาฯ…

เมื่อขบวนการนิสิตนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราช ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถูกกลุ่มอันธพาลการเมืองขวาจัดและเจ้าหน้าที่ล้อมปราบสังหารหมู่และกวาดล้างจับกุมอย่างโหดเหี้ยมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนเกิดรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นั้น

สุธรรม แสงประทุม กับพวกรวม 18 คนถูกฟ้องข้อหาก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ในคดี 6 ตุลาฯ ต่อศาลทหารโดยไม่อนุญาตให้มีทนายความพลเรือน

ต่อมาเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนชุดและยอมตามแรงกดดันทั้งในและนอกประเทศ ให้จำเลยตั้งทนายพลเรือนได้ คุณทองใบ ทองเปาด์ ก็รับเป็นหัวหน้าคณะทนายช่วยว่าความสู้คดีจนรัฐบาลนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นิรโทษกรรมให้ในที่สุดในปี พ.ศ.2521

และเมื่อนิสิตนักศึกษาประชาชนคนเดือนตุลาฯ ที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้เผด็จการหลังรัฐประหาร 6 ตุลาฯ ประสบความขัดแย้งแบ่งแยกระส่ำระสายจนป่าแตกคืนเมือง อยู่ในสภาพ “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” ที่อกหักผิดหวังกับอุดมการณ์และการจัดตั้ง เคว้งคว้างหลักลอยกับชีวิตนั้น

เราก็ได้คนรุ่นกบฏสันติภาพอย่างพี่ทวีปและอาจารย์สุภานี่เองที่เปิดประตูบ้านต้อนรับ โอภาปราศรัย พูดคุยให้กำลังใจอย่างอบอุ่นกันเอง ให้สัมภาษณ์ พาไปดูห้องสมุดส่วนตัว เผื่อแผ่เอกสารข้อมูลประสบการณ์คติข้อคิดความรู้ความเห็นแก่ “นักศึกษาคืนสภาพ” และ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ที่เพิ่งออกจากป่าและหิวกระหายทั้งน้ำใจไมตรีและความรู้ความเข้าใจอย่างพวกเรา

และในหนังสือที่ระลึก ธรรมศาสตร์ 50 ปี (พ.ศ.2527) คุณทวีป วรดิลก ในนามปากกา “ทวีปวร” ผู้ต่อมาได้รับประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ใน พ.ศ.2538 ได้รจนาบทรำพึงลักษณะกลอนเปล่าชื่อ “ห้าทศวรรษแห่งความหวัง” ไว้ตอนหนึ่งถึงคนเดือนตุลาทั้งหลายว่า…

(ต่อตอนจบสัปดาห์หน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image