‘หลวงตาจันทร์’ ฝากถึง ‘วราวุธ’ ให้นำเสือกลับมาที่วัด หากกรมอุทยานฯ เลี้ยงไม่รอด ชี้พร้อมจะเลี้ยงให้ดู

‘หลวงตาจันทร์’ ฝากถึง ‘วราวุธ’ ให้นำเสือกลับมาที่วัด หากกรมอุทยานฯ เลี้ยงไม่รอด ชี้พร้อมจะเลี้ยงให้ดู

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยึดเสือโคร่งของกลาง จำนวน 147 ตัว จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ ที่เคยเป็นสถานท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกในอดีต ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 กาญจนบุรี-ไทรโยค หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และนำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา หลังจากที่กรมอุทยาน ได้เคลื่อนย้ายเสือจำนวนดังกล่าวไป ทำให้วัดเสือที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุด เสือของกลางได้ทยอยเสียชีวิตลงด้วยโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียง 86 ตัว จากจำนวนเสือของกลางทั้งหมด

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 15 กันยายน ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปัญโน เพื่อกราบนมัสการพระวิสุทธิสารเถร (ภูสิต ขันติธโร) หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัด เมื่อไปถึงพบนายอธิธัช ศรีมณี อายุ 50 ปี ผู้จัดการมูลนิธิวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พร้อมลูกศิษย์อีก 1 คน อยู่ที่หน้ากุฏิ ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปพบและแจ้งจุดประสงค์ให้ทราบ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และหลวงตาจันทร์ อนุญาตให้เข้าไปพบบนกุฏิ จากการสังเกตพบว่าหน้าตาและสุขภาพของหลวงตาจันทร์ ยังแข็งแรง และพูดจาฉะฉานเหมือนเช่นเคย

หลวงตาจันทร์ กล่าวว่า เสือเหล่านั้นก็อยู่ที่วัดดีๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อกรมอุทยานฯ มาเอาไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาตมาก็ได้แต่สมเพช ถือว่ามันเป็นกรรมของสัตว์ แต่คนที่เอาไปก็ได้รับกรรมเช่นกัน ซึ่งหลังจากที่มาเอาเสือไป อาตมาก็ได้แต่สอบถามข่าวคราว กรณีที่เกิดขึ้นคงเกิดจากคนเลี้ยงขี้เกียจ เมื่อเสือเริ่มมีอาการป่วยแต่ไม่ได้ทำการรักษา ปล่อยจนกระทั่งอาการป่วยหนักมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เสือตายเป็นจำนวนมากดังกล่าว

หลวงตาจันทร์ กล่าวต่อว่า ขณะที่เสืออยู่ที่วัดนั้น พระสงฆ์ภายในวัดและคนงานที่นี่มีการดูแลเสือเป็นอย่างดี ทุกคนรักเสือ ไม่มีใครคิดทำร้ายเสือ อีกทั้งชาวบ้านต่างก็มีงานทำ มีอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว สำหรับการฝึกให้เสือใกล้ชิดกับคน เราใช้ความรักในการฝึกสอน จนเสือเชื่องและสามารถทำตามคำสั่งได้ อาตมาอยากให้ตรวจสอบว่า ซากเสือที่ตายทั้งหมดอยู่ที่ไหน มีการลักลอบนำซากออกไปขายหรือไม่ ซึ่งเสือ 1 ตัว มีเขี้ยวจำนวน 4 เขี้ยว รวม 344 เขี้ยว หนังเสือ กระดูกเสือ เป็นต้น แต่เสือที่อยู่ที่วัดแห่งนี้ เมื่อตายลง เจ้าหน้าที่จะเข้ามาทำการตรวจสอบอย่างละเอียดพร้อมทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน และทำลายซากเหล่านั้น ซึ่งทุกอย่างทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

Advertisement

“ที่ผ่านมาเคยคิดว่า จะขอนำลูกที่เกิดจากเสือเหล่านั้นมาเลี้ยง แต่จะไม่นำเสือที่ยึดไปมาเลี้ยง เนื่องจากเกรงว่า ขณะที่เสืออยู่ที่นั่นไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไรกับมันบ้าง และหากนำกลับมาเลี้ยงแล้วเกิดตายขึ้นมา ก็จะเป็นปัญหากับวัดอีก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เสือต้องมาตายเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ซึ่งคิดแต่เรื่องของผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง ดังนั้นอาตมาขอให้นำเสือที่เหลือทั้งหมดกลับมาเลี้ยงที่วัด” หลวงตาจันทร์ กล่าว

หลวงตาจันทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้นำอาหารสัตว์มาเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในวัดแห่งนี้ พร้อมนำสัตวแพทย์มาดูแลสัตว์ด้วย ดังนั้นฝากไปยัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หากกรมอุทยาน เลี้ยงเสือที่เหลืออยู่ไม่ได้ ก็ขอให้เอากลับมาให้ที่วัดเลี้ยง ซึ่งทางวัดมีความพร้อมที่จะเลี้ยง เพราะเคยเลี้ยงและรู้วิธีการเลี้ยงเป็นอย่างดี โดยเราจะทำแบบบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรี และประเทศไทย

หลวงตาจันทร์ กล่าวว่า ทั้งนี้เราได้ทำโครงการ Tiger Temple ไว้แล้ว โดยได้ทำการซื้อที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 2 พันไร่ เพื่อขยายพื้นที่ออกไป โดยพื้นที่เดิมจะเป็นสัตว์ที่อยู่ในกรง ส่วนพื้นที่ที่ขยายเพิ่มออกไป จะปล่อยสัตว์อาทิ เสือ สิงโต หมี ให้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น และทำเป็นกระเช้าลอยฟ้าให้นักท่องเที่ยวได้นั่งเที่ยวชม และพื้นที่ส่วนหนึ่งสร้างเป็นเกาะขึ้นมาเพื่อทำร้านกาแฟในลักษณะเป็นโดมกระจกให้นักท่องเที่ยวได้เดินเที่ยวชมสัตว์แบบพาโนรามา เป็นต้น โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ระบุว่า กลุ่มเสือโคร่งที่ตายส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย ที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิดที่ไม่มีภูมิคุ้มกันตัวเองที่ดีพอ จึงเป็นเหตุให้เสือป่วยตาย นั้น หลวงตาจันทร์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง และเป็นไปไม่ได้เลย เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และส่วนกรณีที่ระบุว่า เสือเหล่านั้นน่าจะเป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นโรคติดต่อ ที่เป็นมาตั้งแต่เอาออกมาจากวัดนั้น หลวงตาจันทร์ เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะเชื้อโรคคงไม่ใช่เวลาฟักตัวนานกว่า 3 ปีอย่างแน่นอน และที่สำคัญวันที่เจ้าหน้าที่มาทำการขนย้ายเสือออกจากวัด เสือทุกตัวจะมีการตรวจสุขภาพจากทีมสัตวแพทย์กว่า 40 นาย ดังนั้นหากมีเสือติดเชื้อ หรือเป็นโรค เจ้าหน้าที่ก็จะต้องกล่าวหาวัดไปแล้ว ซึ่งมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นการโยนความผิดให้กับวัดอีกเช่นเคย

“หากเลี้ยงกันไม่ได้ ก็เอากลับ แต่หากเสือของกลางไม่สามารถขนย้ายกลับมาได้ ก็ขอให้นำลูกเสือที่คลอดออกมาใหม่มาเลี้ยงที่วัดฯ อาตมาจะเลี้ยงเอง และจะเลี้ยงให้ดู แต่อย่าลักลอบนำลูกเสือที่เกิดมาไปขายในตลาดมืดก็แล้วกัน” หลวงตาจันทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่บรรยากาศภายในบริเวณวัด เป็นไปอย่างเงียบเหงา แต่ก็มีนักท่องเที่ยวนำอาหารมาเลี้ยงสัตว์อยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ขณะเดียวกันภายในวัดยังมีสัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตให้นำมาเลี้ยงอย่างถูกกฎหมายอยู่อีก 1 ชนิด ก็คือ สิงโต เพศผู้ ชื่อเพชร อายุ 13 ปี ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปดูได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งสิงโตตัวดังกล่าวอยู่ในกรงที่แข็งแรง อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย ขณะที่บ้านเกาะเสือ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเสือของกลาง เหลือเพียงกรงเลี้ยงที่ว่างเปล่าและประตูทุกกรงได้ถูกเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่วันที่ขนย้ายเสือออกไป จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ร้างและดูวังเวงไปในทันที ส่วนบริเวณหุบเสือ ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดแสดงเสือให้นักท่องเที่ยวได้ชมและถ่ายรูปสัมผัสกับเสืออย่างใกล้ชิดก็มีบรรยากาศไม่ต่างกัน

สำหรับเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน ถูกตรวจสอบ และยึดเป็นของกลาง โดยกรมป่าไม้ ตั้งแต่ 12 มิ.ย. 2544 เนื่องจากวัดครอบครองเสือโคร่ง สัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กรมป่าไม้มอบหมายให้สัตวแพทย์สมชัย วิเศษมงคลชัย เป็นผู้ดูแลเสือของกลางและฝากไว้เลี้ยงไว้ที่วัดนี้

จากเดิมที่มีพ่อแม่เสือของกลางเพียง 7 ตัว ผ่านมาเกือบ 15 ปีจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นเป็น 148 ตัว ในปีนี้ ท่ามกลางการร้องเรียนจากชาวต่างชาติเรื่องการทรมานเสือด้วยการล่ามโซ่ การเลี้ยงดูเสือที่ไม่ดี ตลอดจนความปลอดภัย และยังถูกระบุเป็นแหล่งลักลอบค้าเสือ จนรัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามจากไซเตส ต่อมาในเดือน 30 พฤษภาคม 2559 กรมอุทยานฯใช้กฎหมายบังคับย้ายเสือโคร่งมาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และเขาสน จ.ราชบุรี จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ได้ทำการขนย้ายเสือโคร่งชุดสุดท้ายเป็นวันสุดท้าย เป็นการปิดตำนานวัดเสือในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image