“กรมอุทยานฯ”แจง อีก 5 ตัว วิกฤต เสือโคร่งของกลาง เลือดชิดสุดอ่อนแอ ป่วย ไวรัสไข้หัดสุนัข ตายแล้ว 86 ตัว

“กรมอุทยานฯ”แจง อีก 5 ตัว วิกฤต เสือโคร่งของกลาง เลือดชิดสุดอ่อนแอ ป่วย ไวรัสไข้หัดสุนัข

“กรมอุทยานฯ”แจงยิบเสือโคร่งวัดหลวงตาบัวตาย เหตุจากไวรัสไข้หัดสุนัขผสมพันธุ์กันเองทำอ่อนแอติดเชื้อง่าย เผยอยู่ในภาวะวิกฤตอีก 5 ตัว ยันเสือเดิมในสถานีเพาะเลี้ยง 2 แห่งไม่มีอาการเลย ระบุอยู่ที่วัดเสือก็ตายอยู่แล้วเคยยึดลูกรอก-หนังเสือจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงว่า การเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตามหาบัว จำนวน 147 ตัว เป็นการดำเนินการในภาวะที่ไม่ปกติ เสือโคร่งส่วนใหญ่มีภาวะเครียด เนื่องจากการขนย้ายและเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ มีอาการหายใจเสียงดังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร ชักเกร็ง และตายในที่สุด จากการตรวจสอบพบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัข และสัตว์ป่าหลายชนิด รวมทั้งเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ ทำได้เพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ ลดอาการอักเสบ ลดไข้ รักษาอาการภูมิแพ้ บางตัวที่มีอาการหายใจเสียงดังมาก สัตวแพทย์จะดำเนินการผ่าตัด แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดอาการของโรคที่แน่ชัด

Advertisement

นายประกิต กล่าวต่อว่า ต่อมาได้ส่งเสือโคร่งที่ตายไปตรวจพิสูจน์ที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหิดล และสัตวแพทย์จากซาฟารีเวิล พบว่าเกิดจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงและเป็นสาเหตุของการตาย ทั้ง 2 สถานีเพาะเลี้ยง ซึ่งอยู่ห่างกัน แสดงว่าเสือมีการติดเชื้อมาก่อน อย่างไรก็ตามจากรายงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ปัจจุบันไม่พบการแพร่ระบาด เชื้อไข้หัดสุนัข แต่เสือโคร่งยังมีอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ที่เป็นสาเหตุการตาย ซึ่งสัตวแพทย์ได้รักษาตามอาการ และกำหนดแนวทางการดูแลเสือโคร่งที่เหลืออยู่ให้มีอัตราการตายลดลง และมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น ทั้งนี้เสือดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย แตกต่างเสือในประเทศไทยที่เป็นสายพันธุ์อินโด-ไชนีส จึงไม่สามารถปล่อยสู่ธรรมชาติได้

ด้านนายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง มีเสือโคร่ง 45 ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดป่าหลวงตาบัวเหลือ 31 ตัว จากที่รับมา 85 ตัว ตายไป 54 ตัว ส่วนที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี มีเสือโคร่ง 33 ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว คงเหลือ 30 ตัว จากที่รับมา 62 ตัว ตายไป 32 ตัว ทั้งนี้เสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว จำนวน 147 ตัว ตายไป 86 ตัว คงเหลือ 61 ตัว โดยขณะนี้ได้จัดมาตรการดูแลเสือโคร่ง มีการคัดแยกเสือโคร่งตามกลุ่มอาการ เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มปกติ ไม่แสดงอาการ กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย และ กลุ่มแสดงอาการปลานกลางถึงรุนแรง เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามอาการ และประเมินรักษา โดยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดสุนัข

น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ด้านมาตรการดูแลสุขภาพเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 2 แห่ง ได้ประสานกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บอุจจาระและตัวอย่างเลือดตรวจสอบ ติดตามโรค จากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ เมื่อทราบผล จะพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดสุนัขตามขั้นตอน และมีการติดตามผลเป็นระยะ ส่วนเสือที่มีอาการป่วยหนักอาจพิจารณาผ่าตัดเป็นรายกรณี นอกจากนี้จะควบคุมให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัย ภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 2 แห่งอย่างเข้มงวด พร้อมการปรับปรุงคอกให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและมีการเพิ่มพื้นที่กรง คอก ให้เสือโคร่ง และส่งเสริมพฤติกรรมเพื่อลดความเครียดของเสือโคร่ง และมีสัตวแพทย์ติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมง

น.สพ.ภัทรพล กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าที่ผ่านมาในระหว่างการตรวจยึดพบว่าเสือวัดหลวงตาบัวมีการตายอยู่แล้ว จากภาวะเลือดชิดโดยพบเสือลูกกรอกที่ดองไว้ และหนังเสือจำนวนมาก เสือเดิมที่อยู่ในสถานีไม่มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น แต่เสือจากวัดทั้ง 2 สถานีมีอาการเหมือนกัน ทั้งที่สถานีอยู่ห่างกัน ดังนั้นปัญหาพันธุกรรมจึงเป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งนี้สถานีเพาะเลี้ยงฯ เขาประทับช้าง มีเสือโคร่งจำนวน 45 ตัว อยู่ในกลุ่มไม่แสดงอาการ จำนวน 16 ตัว กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย จำนวน 26 ตัว และกลุ่มแสดงอาการปานกลางถึงรุนแรง จำนวน 3 ตัว ส่วนสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน มีเสือโคร่งจำนวน 33 ตัว อยู่ในกลุ่มไม่แสดงอาการ 18 ตัว กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย จำนวน 12 ตัว และกลุ่มแสดงอาการปานกลางถึงรุนแรง 2 ตัว

เมื่อถามว่าทางวัดระบุว่าทางกรมอุทยานฯ เอามาเลี้ยงและเป็นสาเหตุที่ทำให้เสือตาย น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า ลักษณะการสูญเสียเกิดจากสุขภาพของสัตว์อยู่แล้ว ดังนั้นอยู่ที่ไหนก็คงไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ด้วยประสิทธิภาพของกรมอุทยานฯ ในการทำงานเชิงรุก คือการให้ความรู้ การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการต่อต้านจากสังคมในกรณีการเลี้ยงสัตว์ป่าที่ไม่เหมาะสม มีสถานที่เลี้ยงเสือและสวนสัตว์เอกชนหลายแห่ง แจ้งความจำนงที่จะมอบเสือ รวมถึงสัตว์อื่นๆให้กรมอุทยานฯ ดูแลจำนวนมาก กรมอุทยานฯ จึงต้องมีมาตรการดูแลสัตว์เหล่านีในบั้นปลายชีวิตให้ดีที่สุดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image