เปิดตัว ‘ถนนยางพารา’รูปแบบใหม่ ครั้งเเรกที่’บึงกาฬ’

(ซ้าย) ดร.ระพีพันธ์ แดงดันดี (ขวาบน) ตัวอย่างจริงของพื้นถนนที่ผสมยางพารา (ขวาล่าง) แบบจำลองจีโอเซลล์จากยางพาราสำหรับโครงสร้างถนนน

ในช่วงที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินการพูดถึงเรื่อง “ถนนยางพารา” ว่าเป็นทางออกในการแก้วิกฤตยางตกต่ำ เพราะเป็นการนำยางที่มีอยู่จำนวนมากออกมาใช้

จากการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยยางของกรมวิชาการเกษตร ก็ระบุชัดว่าถนนที่มียางพาราผสมอยู่ด้วยมีความคงทนเเละมีอายุใช้งานยาวกว่าถนนที่มีเเต่ยางมะตอยอย่างเดียว

ขณะที่ถนนยางพารากำลังเป็นที่พูดถึงอยู่นั้นใน “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2559” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ มีการเปิดตัวนวัตกรรมการทำถนนยางพารารูปเเบบใหม่เป็นครั้งเเรกถึง 2 รูปแบบด้วยกัน ที่สำคัญคือ ถนนยางที่เปิดตัวครั้งนี้สามารถใช้คู่กับถนนยางพาราเเบบผสมยางมะตอยที่คิดค้นไว้ก่อนหน้า เพิ่มคุณสมบัติของถนนเข้าไปอีก

สร้างความสนใจให้กับนักวิชาการเเละผู้มาร่วมงานยางพาราอย่างมาก จนมีผู้มาขอความรู้ที่บูธมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือต่อเนื่องจนวันสุดท้ายของงาน

Advertisement

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระพีพันธ์ แดงตันดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม อาจารย์เเละนักวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุเเละการผลิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้บุกเบิกงานวิจัยถนนยางพารารูปแบบใหม่ครั้งเเรกในเมืองไทย อธิบายข้อมูลเชิงลึกเเบบละเอียดทุกขั้นตอน

ขณะที่ด้านหลังเป็นเเบบจำลองถนนยางพาราทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น อาจารย์ระพีพันธ์เล่าว่า จุดประสงค์ของการวิจัยทำถนนยางพาราก็เพื่อหาเเนวทางการใช้ยางพาราให้ได้มากที่สุด ซึ่งใช้เวลาศึกษามามากกว่า 2 ปี มีการศึกษา 2 รูปแบบ ซึ่งมีความโดดเด่นเเละเหมาะสมกับประเทศไทยเเตกต่างกันไป

2 รูปแบบใช้ยางทำถนน

Advertisement

รูปแบบที่ 1 จีโอเซลล์จากยางพาราสำหรับโครงสร้างถนน (Para Rubber Geocells for road construction)

อาจารย์ระพีพันธ์อธิบายว่า จีโอเซลล์จากยางพาราเป็นการทำถนนโดยใช้ยางเเผ่น ยางเเห้ง มาเป็นตัวยึดดินที่อยู่ข้างล่างของถนน โดยส่วนใหญ่จะเหมาะกับถนนที่ดินไม่อยู่ตัว ดินอ่อน ดินเหลว หรือดินที่มีลักษณะทรุด อย่างบ้านเราเหมาะมากในทุกภูมิภาค เพราะประเทศไทยมีลักษณะดินชุ่มน้ำหรือดินอ่อน เเต่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้มาก่อน เเต่ในต่างประเทศใช้กันเยอะโดยเฉพาะยุโรป เยอรมนี เเต่เขาจะใช้โพลิเมอร์หรือพลาสติก เนื่องจากเขาไม่มียางพารา ของเรามีการปรับมาใช้ยางพาราที่เป็นยางเเห้งมาขึ้นรูปเป็นลักษณะรังผึ้ง ความลึกเเล้วเเต่การออกเเบบ เเต่หลักๆ จะอยู่ที่ประมาณ 10-15 เซนติเมตร จากการศึกษาจีโอเซลล์จากยางพารามีคุณสมบัติการรับเเรงดีกว่าโพลีเมอร์หรือพลาสติก

“ถ้าเทียบกับถนนปกติ จีโอเซลล์จากยางพาราจะมีอายุการใช้งานจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50-70 เปอร์เซ็นต์ของอายุการใช้งานเดิม เนื่องจากตัวจีโอเซลล์จะเป็นตัวกระจายเเรงเวลารถยนต์วิ่ง ที่จะมีทั้งเเรงที่กดลงไปเเละเเรงกระชากซ้ำไปซ้ำมา เเต่จีโอเซลล์จะเป็นตัวถ่ายเเรงจากถนนลงสู่พื้น ทำให้ตัวถนนรับเเรงได้ดีขึ้นเเละมีความยืดหยุ่น ช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนได้ดียิ่งขึ้น โดยพื้นที่หนึ่งตารางเมตรจะใช้ยางพาราประมาณ 10 กิโลกรัม ดังนั้น ถนนเส้นความยาว 1 กิโลเมตร หรือ 6,000 ตารางเมตร จะใช้ยางพารา 60,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นยางจำนวนมหาศาล

“จุดอ่อนของจีโอเซลล์คือราคาที่เพิ่มขึ้น เพราะเราเพิ่มคุณสมบัติเข้าไป เเต่คุณภาพเเละอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นอีก ส่วนตัวผิวยางด้านบนปัจจุบันสามารถผสมยางพาราลงไปในยางมะตอยได้ ซึ่งมีสถาบันวิจัยยางทำไว้ สามารถผสมยางพาราประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนโครงสร้างถนน ถ้าทำจีโอเซลล์น่าจะเป็นการเพิ่มคุณสมบัติของถนน เเละช่วยในเรื่องการใช้ยางในประเทศนอกเหนือจากการผสมบนผิวถนนอย่างเดียว” อาจารย์ระพีพันธ์อธิบายถึงถนนรูปแบบเเรก

รูปแบบที่ 2 พารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ (Para Rubber Polymer Soil Cement)

สำหรับรูปแบบที่ 2 อาจารย์ระพีพันธ์อธิบายว่า เป็นรูปแบบที่พัฒนามากจากโพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ (Polymer Soil Cement) แต่เติมเป็นน้ำยางพาราลงไป ซึ่งเเนวคิดนี้เริ่มมาจากการทำถนนจากยางมะตอย ใช้น้ำยางพาราเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หรือมากที่สุดคือ 7 เปอร์เซ็นต์ เพราะติดขัดปัญหาหลายอย่าง เลยหาวิธีทำถนนที่ใช้น้ำยางพาราเพิ่มขึ้น

อาจารย์ระพีพันธ์อธิบายขั้นตอนการทำถนนพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ โดยจะต้องเริ่มต้นด้วยการบดอัดถนนให้เเน่นเเล้วค่อยเกลี่ยดินบริเวณด้านหน้าให้หลวม จากนั้นนำซีเมนต์มาโรย เเล้วไถคราดเกลี่ยให้ทั่วผิวหน้า เป็นวิธีการผสมเเห้งโดยเเทรกเตอร์โรตารี่ เเล้วใช้สเปรย์ที่ผสมน้ำยางพารากับหัวเชื้อโพลีเมอร์ ซึ่งเป็นโพลีเมอร์สังเคราะห์ตัวหนึ่งที่ยึดโครงสร้างทั้งหมดไม่ให้น้ำซึม เเล้วตัวน้ำยางพาราจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนเเรงเเละเป็นตัวที่ช่วยเรื่องความยืดหยุ่นเเละความเหนียว นำมาพ่นบนถนนเเล้วใช้รถบดทับดินให้เเน่นบดอัดเป็นชั้นๆ จนได้ความหนาที่ต้องการ เพื่อให้ตัวน้ำยางเข้าไปทุกอณูของดิน

“ในต่างประเทศทำถนนด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ทำพื้นลานสนามบิน เเต่เขาไม่ผสมยางพาราที่เรียกว่าโพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ เพราะเขาไม่มียางพารา เเต่เราใช้ตัวน้ำยางพารามาเป็นตัวผสานเเละเพิ่มความยืดหยุ่น ในส่วนนี้มีความหนา 15-20 เซนติเมตร ความจริงสามารถใช้เป็นผิวถนนได้เลย ไม่ต้องเทผิวถนนยางมะตอยก็ได้ เราจะพบว่าผิวถนนที่ทำขึ้นมามีความเเข็งเเรง ถ้าเป็นถนนในชนบทเราขูดหน้าดินออกมาผสมกับปูนซีเมนต์ราดด้วยน้ำยางเเล้วบดอัด ใช้เวลาเพียง 2 วันก็สามารถใช้เป็นถนนสำหรับเดินทางสัญจรได้เลย มีอายุงานเป็น 10 ปี ไม่มีฝุ่นดินอีกด้วย เเละยังไม่มีปัญหาเรื่องการขับขี่ การยึดเกาะถนน ถนนไม่ลื่นเเน่นอน”

“ดังนั้นถนนตามชนบทที่ยังเป็นดินลูกรังสามารถใช้วิธีนี้ทำได้เลย เเล้วเราได้คิดต้นทุนออกมาเเล้ว เมื่อเทียบกับถนนยางมะตอยเเล้วถนนยางพารา 1 ตารางเมตรใช้งบประมาณ 200-300 บาท เเต่ในขนาดเท่ากันยางมะตอยใช้งบประมาณ 350-400 บาท เเต่อายุงานเท่ากัน เเละถ้าเทียบกับถนนคอนกรีตที่ใช้งบประมาณ 750-800 บาท เเละที่สำคัญคือจากสูตรที่ทำขึ้นมา 1 ตารางเมตร สามารถนำน้ำยางพาราไปใช้ได้สามลิตร ดังนั้นถนนความยาวหนึ่งกิโลเมตรก็สามารถใช้น้ำยางได้ถึง 18 ตัน หรือ 18,000 ลิตร สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้เป็นจำนวนมาก” อาจารย์ระพีพันธ์กล่าว

รูปแบบพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยส์ซีเมนต์
รูปแบบพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยส์ซีเมนต์

เผยข้อเด่น พร้อมหนุนสร้าง

สำหรับความเเตกต่างระหว่างถนนรูปแบบใหม่ทั้ง 2 รูปแบบนั้น อาจารย์ระพีพันธ์อธิบายว่า จีโอเซลล์จะเป็นการเเก้ปัญหาการใช้ยางที่เป็นยางเเห้ง ส่วนพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์จะเป็นการเเก้ปัญหาในส่วนที่เป็นน้ำยางพารา ซึ่งมีผลต่อการเลือกใช้ทำถนน เช่น ใช้วิธีพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ในพื้นที่บริเวณนั้นจะต้องมีสวนยางพารา หากไม่มีจะต้องขนส่งน้ำยางซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น พื้นที่ที่ไม่มียางพาราจึงเหมาะกับการใช้วิธีจีโอเซลล์มากกว่า ส่วนพื้นที่ที่มียางพาราก็เหมาะกับวิธีพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ เช่น จ.บึงกาฬ เป็นต้น

“ข้อเเตกต่างอีกอย่างคือพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ใช้เวลาประมาณ 2 วัน ขณะที่จีโอเซลล์ใช้เวลาเท่ากับการทำถนนปกติ” อาจารย์ระพีพันธ์อธิบาย

ตัวอย่างจริงของพื้นถนนรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้ผสมยางพารา
ตัวอย่างจริงของพื้นถนนรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้ผสมยางพารา

สำหรับถนนยางพาราจะเริ่มทำถนนเส้นเเรกที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าฯ ที่ปราจีนบุรี เเละเริ่มคุยกับท้องถิ่นบ้างเเล้ว

อาจารย์ระพีพันธ์บอกว่า ตอนนี้คุยกับท้องถิ่น สภาหอการค้า เเละโรงงานท้องถิ่นของ จ.บึงกาฬ เขาสนใจเรื่องเทคโนโลยีถนนยางพาราของเรา เขาอยากให้มาทำเป็นตัวอย่างที่นี่ อยากให้ใช้พื้นที่ริมเเม่น้ำโขงซึ่งเป็นโซนใหม่มาทำถนน ให้เข้ากับธีมเมืองยางพารา เเต่ก็ต้องคุยรายละเอียดกันต่อไป

ทั้งหมดผ่านการศึกษาวิเคราะห์เเล้ว เหลือเพียงอย่างเดียวคือลงมือทำ ซึ่งอาจารย์ระพีพันธ์อยากจะเร่งให้ทำโดยเร็วที่สุด

“ตอนนี้ถนนโพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ที่ไม่ได้ผสมกับน้ำยางพาราเริ่มกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงราย ลำปาง เริ่มนำมาใช้เเล้ว เเต่ถนนน้ำยางพารายังไม่มีการทำขึ้น เพราะเพิ่งเปิดตัวที่งานวันยางพาราเป็นที่เเรก ถ้าช้ากว่านี้อาจจะไม่ทันเเล้ว จริงๆ เเล้วโพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ก็มีแบบมาตรฐานอยู่ที่กรมทางหลวงชนบทอยู่เเล้ว เเต่ทีนี้ผมจะผลักดันให้มีตัวยางพาราเข้าไปด้วย ผมก็อยากจะให้ภาครัฐทุกหน่วยงานเข้ามาช่วย เข้ามาดูและทดสอบร่วมกัน ก่อนกระจายองค์ความรู้ออกไปให้เป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะตอนนี้ราคายางพาราตกต่ำมาก การแก้ปัญหาจึงต้องตั้งโจทย์เพื่อช่วยชาวบ้านด้วย”

“ถนนยางพาราตรงนี้คือทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรสนับสนุนอย่างจริงจัง ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการระดมนักวิชาการ นักปฏิบัติ และผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เข้ามาคุยกันและนำเรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติให้ได้โดยเร็ว เพราะยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยเหลือระบายน้ำยางจากเกษตรกรได้มากเท่านั้น

“มหาวิทยาลัยมีความพร้อมเต็มที่และพร้อมเป็นศูนย์กลางในการรวมความรู้และความเห็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีต่อไป ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวไม่ใช่การคิดเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็สามารถนำไปดำเนินการได้ หากรัฐสามารถดำเนินการได้เร็วและมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง รัฐไม่จำเป็นต้องไปตัดต้นยางเลย ผมอยากให้รัฐบาลเเละผู้หลักผู้ใหญ่ลงมาผลักดัน เอาโปรเจ็กต์นี้มาใช้จะเป็นประโยชน์มาก นอกจากจะได้ถนนมาใช้งานแล้วยังช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย” อาจารย์ระพีพันธ์ทิ้งท้าย

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ ปิดท้ายในงานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ

ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในเร็ววัน จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้เป็นอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image