เชียงราย สั่งคุมเข้มพื้นที่ 8 อำเภอ เสี่ยงอหิวาต์แอฟริการะบาดในหมู

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความคืบหน้ากรณีพบสกุรหรือหมูในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายได้เสียชีวิตลงโดยสงสัยว่าอาจติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกา ทำให้คณะทำงานของกรมปศุสัตว์และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ การกำจัดและฝังกลบสุกรไปจำนวนหลายร้อยตัวโดยเฉพาะในพื้นที่อ.แม่จันและอ.แม่สายว่า ล่าสุดที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จ.เชียงราย เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแนวทางแก้ไขปัญหาและการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น

นายสัตวแพทย์กฤษณิ์ พิมพ์งาม นักวิชาการชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์ จ.เชียงราย กล่าวว่ากรณีหมูตายพื้นที่ อ.แม่จัน นั้นเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้มีจำนวนมาก เพียงแต่เมื่อเกิดการตายเพียง 1-2 ตัวจะต้องเข้าทำการควบคุมทั้งหมด พร้อมได้มีการเก็บตัวอย่างซากไปตรวจพิสูจน์ที่หน่วยงานพิสูจน์ที่ตั้งอยู่ จ.ลำปาง แล้วแต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตรวจออกมา แต่อย่างไรก็ตามโรคชนิดนี้ไม่แพร่ระบาดมาสู่คนหรือสัตวืประเภทอื่น ดังกล่าวประชาชนทั่วไปก็ไม่ควรตื่นตระหนก

นายภาษเดช กล่าวว่าที่ผ่านมาได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ทำให้ก่อนหน้านี้ทางประเทศไทยจึงมีการเผ้าระวังไม่ให้โรคนี้มีการแพร่กระจายเข้ามาในประเทศ ซึ่งทางจังหวัดรับนโยบายมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการจัดตั้งด่านเพื่อเฝ้าระวัง พร้อมกันนี้ยังมีการออกประกาศของจ.เชียงรายไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสุกรทั้งจังหวัด โดยมีการจัดตั้งด่านสกัดจำนวน 12 ด่าน ครอบคลุมเส้นทางไปยังจังหวัดข้างเคียงเช่นพะเยาหรือเชียงใหม่ ซึ่งได้กำหนดเขตพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ จากจุดเสี่ยง 5 อำเภอประกอบด้วยแม่จัน แม่สาย เชียงแสน เวียงแก่นและดอยหลวง เพื่อสกัดให้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่ให้โรคนี้เข้ามาในประเทศหรือผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ ส่วนการจะขนย้ายหรือทำให้ซากกระจายออกไปในช่วงนี้นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะหากทำไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 40,000 บาท

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรมปศุสัตว์ได้ประกาศให้พื้นที่ จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนที่เป็นเขตเฝ้าระวังเชื้ออหิวาต์แอฟฟริกาในสุกรหรือหมู เนื่องจากพบโรคในหมูเขตประเทศเพื่อนบ้านรายรอบตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศเมียนมาเคยเกิดเหตุหมูในเขตบ้านแก้วแกลงกูร บ้านกาน่า บ้านแม่อง 1 บ้านแม่อง 2 และบ้านป่าแหน่ ต.เมืองไฮ จ.ท่าขี้เหล็ก ตายเป็นจำนวนมากช่วงต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านและมีการนำซากหมูทิ้งลงลำน้ำสะโท่งซึ่งเป็นต้นแม่น้ำแม่ขาวที่ไหลลงสู่ลำน้ำสายชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา มีการกำจัดหมูไปแล้วไม่น้อยกว่า 500 ตัว จนกระทั่งพบหมูเสียชีวิตในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้ก็มีรายงานว่าพบหมูตายในพื้นที่อ.แม่สาย ทำให้ต้องทำลายหมูไปกว่า 700 ตัว ทำให้ทางจังหวัดจึงต้องเข้าควบคุมและเฝ้าระวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image