พณ.เปิดตัวบิ๊กดาต้า นำร่องรู้ลึก5พืชเศรษฐกิจ สู่การลดปัญหา-ขยายส่งออก

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงาน”ร่วมคิด ร่วมค้า ท้าทายเศรษฐกิจโลก:การรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนากลยุทธ์การค้าเศรษฐกิจใหม่” จัดโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ว่า ประเทศไทยกำลังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในปัจจุบัน ไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และสังคม,เทคโนโลยีและการค้าโลกที่ยังเผชิญกับความผันผวนจากสถานการณ์สงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ ประเทศไทยจะต้องปรับตัวรับมือ โดยวันที่ 18 กันยายน กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดตัวระบบ Big Data เพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำข้อมูลและเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ในรูปแบบการนำเสนอผ่าน Dashboard นำร่องพืชเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งระยะแรกจะพัฒนาระบบเริ่มต้นจากพืชเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์น้ำมัน และยางพารา

“ระบบสามารถใช้ติดตามสถานการณ์ การผลิตและความต้องการทั้งในและต่างประเทศ สามารถคาดการณ์แนวโน้มและเตือนภัย กำหนดนโยบายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาได้ รวมถึงนำสิ่งสะท้อนของภาคประชาชนเข้ามากำหนดเป็นนโยบายประกอบการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ทันกับสถานการณ์และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในอนาคต “นายทรงศักดิ์ กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสนค. กล่าวว่าตั้งเป้าให้ข้อมูลBig Data มีความสมบูรณ์ทั้งหมดภายในปี 2563 ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย เพื่อดูแลเกษตรกรและประชาชนในประเทศ อนาคตสนค.จะขยายการจัดทำข้อมูล Big Data เข้าสู่ภาคการส่งออก ซึ่งจะสามารถครอบคลุมข้อมูลสำคัญของตลาดทั้งในส่วนของคู่แข่งและคู่ค้าที่สำคัญ การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ การจัดทำข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เป็นการขยายเศรษฐกิจท้องถิ่น และการจัดทำข้อมูลสำหรับภาคบริการโดยเฉพาะภาคบริการด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลคอนเทนต์ ถือว่าเป็นบริการในอนาคตที่สร้างรายได้เข้าประเทศและมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนมาก พร้อมจะต่อยอดธุรกิจ

นายปริญญ์ บุญดีสกุลโชค ที่ปรึกษาสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ปี 2561 ยอดส่งออกข้าว แม้จะขยายตัวแต่ดูเป็นรายชนิดข้าว ข้าวนึ่ง ส่งออกลดลงถึง 22% จากการนำเข้าลดลงในตลาดรัสเซีย หากดูเป็นรายตลาดนำเข้าข้าวทั่วโลก พบว่า โมร็อกโก นำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นถึง 72% แต่กลับไม่มีการนำเข้าจากไทยเลย รวมทั้งจีน ที่ส่งออกข้าวมากขึ้น แต่ตัวเลขการผลิตข้าวไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปีก่อนหน้าจีนมีการนำเข้ามาเยอะจนสต๊อกเหลือ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้านราคาตั้งแต่ต้นทุนของเกษตรกร ไปจนถึงโรงสี ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก และส่งออก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image