คิดถึง SOAS (2) โดย ลลิตา หาญวงษ์

ลอร์ด เคอร์ซอน อดีตอุปราชแห่งอินเดีย

วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (The School of Oriental and African Studies -SOAS) หรือ “โซแอส” เป็นวิทยาลัยในสังกัดมหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อตั้งเมื่อปี 1917 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) เพื่อเป็นสถาบันสอนภาษาจากเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง ให้ข้าราชการที่กำลังจะถูกส่งไปประจำในอาณานิคมของอังกฤษทั่วโลก ในเวลาต่อมา ความจำเป็นในการเรียนภาษาพื้นเมืองขยายตัวออกไปนอกระบบราชการอาณานิคมอังกฤษ ทำให้ผู้ที่เข้าไปเรียนที่โซแอสมีหลากหลายขึ้น ตั้งแต่บาทหลวง นักธุรกิจ แพทย์ นักธุรกิจ และครู ที่เข้าไปทำงานในอาณานิคมของอังกฤษในเอเชียและแอฟริกา

ในวิธีคิดของรัฐแบบอังกฤษ หรืออาจเรียกว่ารัฐในโลกตะวันตกทั้งหมด การเรียนภาษาและการทำความเข้าใจขนบธรรมเนียมของดินแดนต่างชาติต่างภาษาเป็นสิ่งจำเป็นมาก และการเรียนภาษายังเป็นข้อบังคับอันดับต้นๆ ของนักการทูตอังกฤษและอเมริกันที่ถูกส่งไปประจำตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน หลายท่านอาจสังเกตว่าเมื่อเทียบกับความเก่าแก่ของจักรวรรดิอังกฤษ ที่มีประวัติย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 (ร่วมสมัยกับอยุธยาตอนปลาย) โซแอสเป็นสถาบันที่ใหม่มาก ก่อนการสถาปนาโซแอสในปี 1917 การสอนภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ได้แก่ University College (UCL) และ King’s College มหาวิทยาลัยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยลอนดอน และก่อตั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน คือในปี 1826 และ 1829 ตามลำดับ ในต้นศตวรรษที่ 19 ทั้ง UCL และ King’s มีหน้าที่สอนภาษาสำคัญๆ ในเอเชียและตะวันออกกลาง ได้แก่ ฮิบรู ฮินดูสถานี สันสกฤต เตลูกู (ภาษาหนึ่งในอินเดียภาคใต้) อราบิค เปอร์เซียน กูจาราติ และเบงกาลี

ก่อนจะมีการเรียนการสอนด้านบูรพคดีศึกษาที่ UCL และ King’s College ในลอนดอน ข้าราชการอาณานิคมของอังกฤษ หรือที่เรียกว่า ICS (Indian Civil Service) ถูกส่งไปฝึกภาษาและเรียนรู้ขนบธรรมเนียมของเอเชียและแอฟริกาที่เฮลี่เบอรี่ คอลเลจ (Haileybury College) ที่บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company-EIC) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1806 จุดเริ่มต้นของการสถาปนาสถาบันด้านบูรพคดีและแอฟริกันศึกษาอย่างจริงจังมาจากดำริของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเซอร์ เฮนรี่ แคมป์เบลล์-แบนเนอร์แมน (Henry Campbell-Bannerman) ที่เล็งเห็นว่ายังไม่มีสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านนี้อย่างจริงจังในอังกฤษ และยังมีปริมาณผู้สอนภาษาจากเอเชียและแอฟริกาน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดการเรียนการสอนในสายนี้ในเยอรมนีและฝรั่งเศส ด้วยในเวลานั้นอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คำทักท้วงจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านบูรพคดีศึกษาอย่าง ที ดับเบิลยู รีส เดวิดส์ (T.W. Rhys Davids) ศาสตราจารย์ด้านพุทธศาสนาและบาลีคนสำคัญ และลอร์ด เรย์ (Lord Reay) อดีตข้าหลวงแห่งเบงกอลระหว่าง 1885-1890 และประธาน British Academy และสมาคมรอยัลเอเชียติก (Royal Asiatic Society) อันเป็นสมาคมที่ศึกษาด้านเอเชียเก่าแก่ชั้นนำ ทำให้รัฐบาลของแคมป์เบลล์-แบนเนอร์แมนเริ่มเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนของการตั้งวิทยาลัยเพื่อสอนภาษาจากเอเชียและแอฟริกาที่ลอนดอน

คณะทำงานเพื่อจัดการการเรียนการสอนด้านบูรพศึกษาในลอนดอน หรือ “คณะกรรมการชุดของเรย์” (Reay Committee) ถือกำเนิดขึ้นในปี 1909 เพื่อสอนภาษาตะวันออกให้กับข้าราชการที่กำลังจะถูกส่งไปบริหารจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ของอังกฤษ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามี 17 ภาษาที่จำเป็นสำหรับกรณีนี้ เป็นภาษาจากอินเดียเสีย 8 ภาษา มีภาษามาเลย์และภาษาพม่าที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีก 2 ภาษาจากแอฟริกา ได้แก่ เฮาซา (Hausa) และสวาฮิลี (Swahili) ในช่วงแรก คณะกรรมการละเลยภาษาสันสกฤต เพราะเห็นว่าไม่ใช่ภาษาพูดที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีผู้ทักท้วงว่าการเรียนภาษาคลาสสิกอย่างสันสกฤตนั้นจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมอินเดียได้มากกว่าบางภาษาเสียอีก และยังทิ้งท้ายว่ามีมหาวิทยาลัยในเยอรมนีถึง 13 แห่งในเวลานั้นที่สอนภาษาสันสกฤต

Advertisement

การสอนภาษาจากเอเชียและแอฟริกาในเวลานั้นเป็นหน้าที่ของครูชาวอังกฤษ หรือจากประเทศเจ้าอาณานิคมอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์เป็นข้าราชการ ICS เข้าไปประจำในอาณานิคมอังกฤษทั่วโลก หรือเป็นมิชชันนารีสอนศาสนา เรียนรู้ผ่านครูเจ้าของภาษา หรือคลุกคลีกับคนพื้นเมือง และเขียนตำราภาษา เป็นเสมือนสูตรสำเร็จของการเรียนการสอนภาษาจากเอเชียและแอฟริกาในต้นศตวรรษที่ 20 ที่เชื่อว่าการเรียนภาษาที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากครูชาวยุโรป มากกว่าครูเจ้าของภาษา และยังมาจากความเชื่อที่ว่าการเรียนภาษาไปจากลอนดอน หรือ “เมืองหลวงของจักรวรรดิ” จะช่วยให้ข้าราชการอาณานิคมหนุ่มๆ เข้าใจภาษานั้นๆ ได้ง่ายกว่าไปเรียนภาษาในอาณานิคมด้วยตนเอง

ลอร์ด เรย์ และคณะกรรมการอื่นๆ มีประเด็นต้องกังวลอยู่หลายประการ โดยเฉพาะความกังวลที่ว่าหากสถาบันบูรพศึกษาและแอฟริกาศึกษาเกิดขึ้นจริง มหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างอ๊อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์จะไม่พอใจ เพราะเป็นสถาบันที่ฝึกปรือวิชาการให้กับข้าราชการ ICS มายาวนาน การคาดคะเนของลอร์ด เรย์ค่อนข้างแม่นยำ เอียน บราวน์ ผู้เขียนประวัติของโซแอสและตีพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของโซแอสกล่าวไว้ว่า “ท่าทีไม่เป็นมิตรที่อ๊อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์แสดงต่อสถาบันแห่งใหม่ที่ลอนดอน [โซแอส] เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา” ในช่วงแรก คณะทำงานเสนอว่าสถาบันแห่งใหม่ควรสอนทั้งภาษาที่ยังมีใช้ทั่วไป กับภาษาคลาสสิก ได้แก่ บาลีและสันสกฤตด้วย และเสนอให้จ้างศาสตราจารย์ประจำ 5 คน รีดเดอร์ 9 คน (ตำแหน่งรีดเดอร์ในระบบการศึกษาอังกฤษเทียบเท่ารองศาสตราจารย์) และเจ้าของภาษาอีก 16 คน งบประมาณต่อปีที่กำหนดไว้เกือบ 13,000 ปอนด์ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง สภาเมืองของลอนดอน และสภาหอการค้าแห่งลอนดอน และงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนการเรียนภาษาตะวันออกที่ UCL และ King’s College อยู่แล้ว ตลอดจนหนังสือในห้องสมุดที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมตะวันออกก็จะโอนมายังวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ด้วย

แม้คณะทำงานของลอร์ด เรย์จะเสนอความเห็นและมองว่าการตั้งสถาบันเพื่อสอนภาษาตะวันออกอย่างจริงจังเป็นความจำเป็นเร่งด่วน แต่เวลาผ่านไปหลายปี สถาบันแห่งใหม่นี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งมีคณะทำงานอีกชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาวาระเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งสถาบันสอนภาษาตะวันออก คณะทำงานชุดนี้มีชื่อเรียกว่า “คณะทำงานชุดโครเมอร์” (Cromer Committee) มีลอร์ด โครเมอร์ อดีตกงสุลใหญ่ที่อียิปต์ และลอร์ด เคอร์ซอน (Lord Curzon) อดีตอุปราช (viceroy) คนดังแห่งอินเดีย เป็นประธาน ด้วยตำแหน่งแห่งที่ของคณะทำงานชุดนี้ที่สูงกว่าชุดแรก ทำให้มีอำนาจการต่อรองเพียงพอ และเริ่มวางแผนก่อตั้งวิทยาลัยบูรพศึกษาที่วงเวียนฟินสเบอรี่ (Finsbury Circus) กลางกรุงลอนดอนในที่สุด

Advertisement

แต่การตั้งสถาบันแห่งใหม่ขึ้นมาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นอกจากจะเกรงใจมหาวิทยาลัยเก่า ๆ ทั้งอ๊อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์แล้ว ยังมีผู้ทักท้วง คัดค้านการเกิดขึ้นของโซแอสอีกส่วนหนึ่งในยุคที่อิทธิพลของอังกฤษเริ่มโรยรา การเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมในอาณานิคมทั่วโลก ที่จะนำมาสู่การได้รับเอกราชในที่สุด ในสัปดาห์ต่อไป ซึ่งจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของบทความ “คิดถึง SOAS” นี้ ผู้เขียนอยากเล่าพัฒนาการของอดีตโรงเรียนสอนภาษาแห่งนี้เพิ่มเติม ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ อาจมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ของโซแอส หรืออาจจะถูกควบรวมกับมหาวิทยาลัยที่ใหญ่กว่าสักแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image