สวนสัตว์โคราชเปิดรับสมาชิกใหม่’สัตว์พันธุ์แปลก’หนูยักษ์คาปิบาร่า-ตัวกินมด

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่อเมซอนโซน สวนสัตว์นครราชสีมา นายพิทักษ์ อุ่นซ้อน ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา พร้อมนายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา นายกีรติ กันยา หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยสวนสัตว์นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงสัตว์ ร่วมกันเปิดบ้านต้อนรับสมาชิกใหม่สุดน่ารัก ส่วนการแสดง หนูยักษ์คาปิบาร่า จำนวน 5 ตัว และตัวกินมดยักษ์ ย้ายมาจากสวนสัตว์ขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เป็นตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมีย 3 ตัว อายุประมาณ 2 – 3 ปี และตัวกินมดยักษ์ ย้ายมาจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 เป็นตัวผู้ 1 ตัว อายุ ประมาณ 3 ปี ท่ามกลางนักท่องเที่ยว และคณะทัศนศึกษาของนักเรียนในพื้นที่ และใกล้เคียงหมุนเวียนเข้าชมอย่างคึกคัก

นายพิทักษ์ เปิดเผยว่า สวนสัตว์นครราชสีมา เป็นหนึ่งในองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจหลักในด้านการอนุรักษ์ วิจัย เพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่า เป็นแหล่งท่องเที่ยว เสมือนกับทุ่งหญ้าแอฟริกาเมืองไทย มีการรวบรวมสัตว์ป่าจากทั่วทุกมุมโลกมาจัดแสดง ให้ นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้ สำหรับ “หนูยักษ์คาปิบาร่า” เป็นสัตว์ฟันแทะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวคล้ายกับหนูตะเภา ชอบอยู่รวมกันเป็น ฝูง ใช้ชีวิตอยู่ตามพื้นที่ของหญ้าแห้ง บ้างก็ขุดหลุมใต้ชั้นดิน ชอบการว่ายน้ำ สามารถว่ายน้ำได้เก่ง และแช่น้ำตลอดวัน มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้กระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าอเมซอน อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

ส่วน “ตัวกินมดยักษ์” ตัวนี้เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีหน้าตาที่แปลกประหลาด สีขนมีสีน้ำตาลและมีสีดำพาดและสีขาวพาดช่วงไหล่ ขาหน้าเป็นขนสีขาวมีแถบสีดำที่ปลายเท้า ปากคล้ายท่อที่เปิด มีตาและหูขนาดเล็กทำให้มีสายตาและการได้ยินที่ไม่ดี แต่มีสัมผัสในการรับกลิ่นที่ดีกว่ามนุษย์ถึง 40 เท่า ส่วนลิ้นมีความยาว 60 เซนติเมตร ลิ้นของมันยังปกคลุมไปด้วยน้ำลายเหนียว ยังสามารถยืดหดได้ถึง 150 ครั้งต่อนาที มีนิ้วเท้า 5 นิ้ว ที่แข็งแรงมากเพื่อใช้ในการขุด เป็นสัตว์ที่รักสันโดษ ยกเว้นตัวเมียที่มีลูก ระยะตั้งท้องของตัวกินมดยักษ์ประมาณ 190 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูก จะหย่านมหลังจากคลอด 2 เดือน และแม่จะแบกลูกไว้ที่หลังของมันไปจนถึง 9 เดือน กินอาหารจำพวกแมลง และปลวก กินได้วันละประมาณ 30,000 ตัว ในปัจจุบันตัวกินมดยักษ์มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN Red List 2012, สิ่งมีชีวิตที่จัดให้อยู่ในอนุสัญญาไซเตส ในบัญชีหมายเลข 2 (CITES 2002) ซึ่งสวนสัตว์นครราชสีมาได้มีแผนนำตัวกินมดยักษ์ตัวเมียเข้ามาดูแลอีกในช่วงปีงบประมาณต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image