ส่งออกไทยห่วงพลาดเป้า 8เดือนลบแล้ว2.2% ลุ้นผลงาน”จุรินทร์”เปิดตลาดใหม่ หวังประคองทั้งปี0% (ชมคลิป)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคม 2562 การส่งออก มีมูลค่า 21,915 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.0% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 19,862 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.6% เกินดุลการค้า 2,053 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รวม 8 เดือนแรก2562 ส่งออกมีมูลค่า 166,091 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.2% การนำเข้ามีมูลค่า 159,984 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.6% และเกินดุลการค้า 6,106 ล้านเหรียญสหรัฐ หากคิดเป็นเงินบาท เดือนสิงหาคมมีมูลค่า 670,452 ล้านบาท ลดลง 11.4% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 616,377 ล้านบาท ลดลง 21.1% ส่งผลให้การค้าเกินดุล54,076 ล้านบาท ทำให้รวม 8 เดือนแรก 2562 การส่งออกรวม 5,206,697 ล้านบาท ลดลง3.7% การนำเข้ารวม 5,089,258 ล้านบาท ลดลง 5% และเกินดุลการค้า 117,439 ล้านบาท

ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเดือนสิงหาคม หดตัว 4.4 % สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 26.8% ในตลาดจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์ น้ำตาลทราย ขยายตัว 15.3% ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 5.6% ในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ขณะที่สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว 44.7 % หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ จีน กานา และแคเมอรูน แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และเซเนกัล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว25.3% ในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดไต้หวัน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) ยางพารา หดตัว 7.2 % ในตลาดจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และบราซิล กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 10.8% ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และเมียนมา เครื่องดื่ม หดตัว 8.9% ในตลาดเวียดนาม จีน ลาว และฟิลิปปินส์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดกัมพูชา เมียนมา และสิงคโปร์ รวม 8 เดือนแรก2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 2.2%

สำหรับส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว 1.9 % สินค้าที่ยังขยายตัวได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำขยายตัว51.1% ในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทองคำ ขยายตัว377.5% ในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และเยอรมนี รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 9.2% ในตลาดจีน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบราซิล ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาด 27.7% ในตลาดจีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 12.6% ในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น รวม 8 เดือนแรก2562 หดตัว 1.5%

Advertisement

” การส่งออกสิงหาคมติดลบ จากปัญหาของสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรวมไปถึงความมั่นคงของตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและทำให้คำสั่งซื้อลดลงเนื่องจากพบว่าในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ที่พึ่งพาการส่งออกเช่นเดียวกับไทย รวมถึงส่งออกไปตลาดอาเซียน กลุ่มCLMV และเอเชียใต้หดตัวในระดับสูง แนวโน้มการส่งออกช่วงที่เหลือปี 2562 ยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท แต่กระทรวงพาณิชย์ยังเป้าหมายผลักดันส่งออกครึ่งปีหลังตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์คาดหวังไว้ 3% ซึ่งเดือนที่เหลือของปีต้องเร่งขยายตลาด ในแผนผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลังเร่งรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่าเช่นอีรัก และผลักดันการค้าชายแดน ซึ่งการเดินทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปจีนและอินเดีย จะช่วยขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากจากนี้เฉลี่ยส่งออกได้ต่อเดือน 21,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งปีจะขยายตัวเป็น 0% หากจะให้ขยายตัว 3% ต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 23,600 ล้านเหรียญสหรัฐ คงทำได้ยากจากหลายปัจจัยที่ยังไม่ค่อยดีนัก” ” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า นอกจากปัจจัยเรื่องสงครามการค้าแล้ว ยังมีผลกระทบจากราคาน้ำมันหดตัวจากปีก่อนถึง 18% ปีก่อนอยู่ที่กว่า 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปีนี้เหลือ 50 เหรียญสหรัฐ จึงกระทบต่อเนื่องถึงราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ น้ำมันมีสัดส่วน 4% ของการส่งออกรวม เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ มีสัดส่วน 10-11% รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง เช่น ข้าว และการเร่งนำเข้าของจีนในสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ผลจากเดือนที่ผ่านมาประเทศผู้นำเข้าเร่งนำเข้าสินค้าไปสต๊อกและค่าเงินบาทแข็งค่ายังเป็นผลกระทบอยู่ ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าแม้ได้รับผลกระทบในหลายประเทศ แต่ไทยยังได้ผลดีในสินค้าบางตัวที่ยังสามารถส่งออกไปทดแทนได้ ทั้งในตลาดจีนและสหรัฐ แม้การส่งออกในเดือนนี้จะติดลบ หากเทียบในภูมิภาคเดียวกันพบว่าหลายประเทศยังติดลบเนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าเป็นหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image