เร่งแก้ปัญหาช้างป่าละอูออกหากินในตลาดห้วยสัตว์ใหญ่ รอส่วนกลางไฟเขียวย้าย “พลายบุญมี”-“พลายบุญช่วย” ไว้ที่ป่าพะเนินทุ่ง ใกล้แหล่งน้ำ-อาหาร

วันที่ 22 กันยายน นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯนำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานเฝ้าระวังช้างป่าแก่งกระจาน ขับเคลื่อนบูรณาการแก้ไขปัญหาช้างป่า ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.)ห้วยสัตว์ใหญ่ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ทำการย้ายตู้คอนเทรนเนอร์จุดรับแจ้งเหตุกรณีช้างป่าเข้าชุมชนบริเวณซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังบริเวณหน้ารั้วป้องกันช้างป่าซึ่งเป็นจุดที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ เพิ่มทัศนวิสัยในการสังเกตเห็นช้างป่าได้ง่ายขึ้น พร้อมจัดเวรผลัดเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่รักษาการณ์เฝ้าระวังและรับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรรวมถึงพื้นที่ล่อแหลมที่เสี่ยงกับช้างป่าเดินข้ามถนนในช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวและชุมชนใช้เส้นทางสายหลัก โดยในช่วงนี้พบช้างป่าออกหากินบนถนนอย่างต่อเนื่องและเจ้าหน้าที่ได้ทำการผลักดันช้างเข้าไปหากินในพื้นที่ป่าธรรมชาติ

นายมานะ กล่าวว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้เสนอย้ายช้างป่าที่มีพฤติกรรมเกเรจำนวน 4 ตัว ออกจากพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ย้าย เจ้าหน้าที่จึงต้องขุดคูกันช้างและตรวจสอบความแข็งแรงของรั้วกันช้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เสนอย้ายช้างพลายบุญมีและพลายบุญช่วย แต่ต้องรอความเห็นชอบจากหน่วยงานในส่วนกลางเนื่องจากเป็นช้างป่าที่มีพฤติกรรมออกหากินชุมชน สำหรับพื้นที่ใหม่ที่มีการสำรวจจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเป็นพื้นที่ป่าพะเนินทุ่ง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และเนื่องจากช้างป่าทั้ง 2 ตัวมีพฤติกรรมชอบหากินบนถนนลาดยางและในเขตชุมชน ดังนั้นหลังจากย้ายจากถิ่นที่อาศัยเดิมแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมช้างไม่ให้ออกไปหากินบนเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรอีก

Advertisement

นายธนนท์ พรรพีภาส นายอำเภอหัวหิน กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาช้างป่าระยะยาวจะเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บท เช่น การสร้างแหล่งอาหารช้างในป่า การทำโป่งเทียม การถางป่าริมทางถนนหนองพลับ-ป่าละอู ติดตั้งไฟส่องสว่าง การจัดชุดเฝ้าระวังช้างป่า ขณะเดียวกันการสร้างแนวรั้วด้านทิศตะวันออกยังคงเหลืออีก 17 กิโลเมตร (กม.) ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากอยู่ในเขตปลอดภัยทางทหาร สำหรับแนวรั้วด้านทิศตะวันตกยังเหลืออีก 20 กิโลเมตร(กม.) มีแผนก่อสร้างแล้ว 10 กม. และได้ของบประมาณแล้วสำหรับดำเนินการเป็นระยะทาง 5 กม. หากในอนาคตสร้างแนวรั้วกันช้างได้ครบทุกจุดจะสามารถแก้ไขปัญหาช้างป่าได้ร้อยละ 80

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image