ยาเสียสาว GHB : ภัยร้ายของสังคม : โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

ยาเสียสาว GHB : ภัยร้ายของสังคม

ข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้สาวในวันที่ 17 กันยายน 2562 หลังจากทำหน้าที่เอนเตอร์เทนชงเหล้าให้แขกดื่ม ทำให้ชื่อของยาเสียสาว หรือยาจี (GHB) ได้รับการกล่าวขาน สงสัยว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ส่งผลทำให้ผู้คนสนใจใคร่รู้ว่า GHB คืออะไร ทำให้ผู้เสพเกิดอันตรายร้ายแรงจริงหรือไม่อย่างไร

GHB คืออะไร? GHB ย่อมาจาก แกมม่า ไฮดรอกซี บูเทอริก ปัจจุบันรู้จักกันในนามของยาเสียสาว ยาจี น้ำปลา ฯลฯ มีคุณสมบัติเป็นสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) และเป็นสารออกฤทธิ์ทางจิต เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทกาบา (GABA) กลูตาเมท (Glutamate) และไกลซีน (Glycine) ในสมองของคนเรามีตัวรับสัญญาณ GHB ทำให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด บรรเทาวิตกกังวล หลับสนิท ฯลฯ

ประวัติของ GHB มีการสังเคราะห์ GHB เพื่อทำเป็นยา ในปี พ.ศ.2507 โดยใช้เป็นยาสลบ นำมาใช้ช่วยคลอด ลดความวิตกกังวล เป็นยาต้านเศร้า ยาปลุกเซ็กซ์ รักษาโรคติดเหล้า ปวดพังผืดกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia)รักษาภาวะผล็อยหลับ (Cataplexy) โรคลมหลับ (Narcoplexy) ฯลฯ นอกจากนั้นยังเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ นิยมใช้ในคนยกน้ำหนัก ต่อมาพบผลข้างเคียงรุนแรง คือคนที่ได้รับยามีอาการอาเจียน ชัก ทั้งมีการนำไปใช้ในทางผิด เพื่อนันทนาการในงานปาร์ตี้ ทำให้เคลิบเคลิ้มอารมณ์ดี เข้าสังคมง่าย แต่เกิดพิษรุนแรง

Advertisement

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยจากการใช้ GHB เข้าไอซียูจำนวนมากผิดปกติถึง 100 เท่าภายใน 6 ปี ในปี พ.ศ.2533 ทางสหรัฐอเมริกาจึงประกาศถอดออกจากบัญชียา อย่างไรก็ตาม ยังมีการลอบจำหน่าย GHB ในตลาดมืด นอกจากนั้น GHB ยังสามารถผลิตได้ในครัวเรือน และ GHB เองก็เป็นส่วนผสมของยาควบคุม ยาเฉพาะโรคบางชนิดในปัจจุบัน

ปี พ.ศ.2542 มีคดีสะเทือนขวัญประชาชนเกิดขึ้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการนำ GHB ไปมอม เพื่อข่มขืนคู่รัก จนได้ชื่อว่า Date rape drug จนทำให้เด็กสาวอายุ 15 ปี เสียชีวิต สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา (Drug Enforcement administration: DEA) ประกาศควบคุม GHB ให้เป็น list 1 chemicals การครอบครองหรือซื้อขาย ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย

ปัจจุบันประเทศไทย GHB ได้จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ปี พ.ศ.2535 อยู่ในการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 การครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย

ในเมืองไทย มีรายงานเกี่ยวกับอันตรายของ GHB ครั้งแรกในปี พ.ศ.2546 มีคนลักลอบใส่ สารเสพติดในกลุ่มที่คล้ายคลึงกับ GHB ลงไปในขวด ติดฉลากว่าเป็นไวน์ผลไม้ ส่งไปต่างประเทศ แต่ถูกตีกลับ คนไทยจำนวน 9 คน ได้ดื่มไวน์มรณะนี้แล้วเจ็บป่วยรุนแรง มีเสียชีวิต 1 คน โดยคนที่เสียชีวิตดื่มเหล้าร่วมด้วย แพทย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ออกรายงานทางการแพทย์ ทั้งเตือนวัยรุ่นถึงอันตรายหากนำ GHB มาใช้ในทางเริงรมย์

การออกฤทธิ์ GHB เป็นสารที่เป็นผลึกสีขาว หรือของเหลว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสเค็มเล็กน้อยเพราะอยู่ในรูปเกลือโซเดียมหรือโปตัสเซียม เป็นสารที่สามารถละลายในเครื่องดื่มได้ทุกชนิดได้ง่าย โดยไม่อาจสังเกตเห็น เท่าที่รายงาน ยังไม่มีรูปแบบการเสพวิธีอื่น นอกจากการดื่มกิน

หลังจากเสพ GHB ดูดซึมได้ดีในระบบทางเดินอาหาร เดินทางเข้ากระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ภายใน 15 นาที จะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทสมองผ่านสารสื่อประสาทต่างๆ โดยมีฤทธิ์สูงสุดหลังดื่มกิน 1.5-2 ชั่วโมง ฤทธิ์ทั้งหมดอาจอยู่นานถึง 4 ชั่วโมงหลังเสพ

อาการและอาการแสดงเมื่อเกิดพิษจาก GHB ความรุนแรงของพิษ ขึ้นอยู่กับปริมาณของ GHB ที่ดื่มกินเข้าไป หากดื่มเหล้าร่วมด้วย GHB จะลดการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ในระดับสูง หากกินยาระงับประสาท หรือยาเสพติดตัวอื่นๆ ร่วมด้วย จะเสริมพิษกัน เพิ่มความรุนแรงของพิษจาก GHB ทำให้หายใจช้า หยุดหายใจ ชัก และเสียชีวิต

อาการสำคัญที่เด่นชัดที่สุดหลังเสพ 15 นาทีคือ อารมณ์ดี สนุกสนาน เข้าสังคมได้ดี ตามด้วย พฤติกรรมก้าวร้าว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน เดินเซ เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงหลอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หลับปลุกไม่ตื่น บางคนมีอาการชัก ไม่รู้ตัว สลับกับรู้ตัว ทำให้คิดว่าไม่อันตราย บางคนดิ้นรนเหมือนคนจมน้ำ ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ ไม่รู้สึกตัวโคม่า หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิต คนที่ได้รับพิษของ GHB แล้วไม่เสียชีวิต จะหมดสตินาน 15 นาที-6 ชั่วโมง ตื่นขึ้นเอง เมื่อตื่นจะจำเหตุการณ์ สถานที่ บุคคลไม่ได้ แม้แต่เรื่องถูกข่มขืน

ปริมาณ GHB ที่ทำให้เสียชีวิต มีรายงานว่า เมื่อดื่มกิน GHB มากกว่า 3,500 มิลลิกรัม (หากเป็นเกล็ดประมาณค่อนช้อนชา) จะหมดสติอย่างรวดเร็ว หากดื่มกินมากกว่า 7,000 มิลลิกรัม การหายใจจะถูกกด หายใจช้า หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเจาะเลือดคนที่เสียชีวิตจากพิษของ GHB พบค่า GHB ในเลือด มีจำนวน 100-1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร

การตรวจวินิจฉัยว่ามีการเสพ GHB หากสงสัยว่ามีการเสพ การตรวจสารที่เสพมักจะให้การวินิจฉัยได้ จากลักษณะและคุณสมบัติของ GHB ส่วนในคนที่เสพ การตรวจต้องอาศัยห้องปฏิบัติการที่มีความชำนาญเฉพาะ เนื่องจาก GHB ส่วนใหญ่ขับออกจากลมหายใจ แต่สามารถตรวจหา GHB ได้ในเลือดและน้ำเหลือง หลังเสพ 6-8 ชั่วโมง ตรวจได้ในปัสสาวะหลังเสพนาน 12-24 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังสามารถตรวจหาในน้ำลาย และเส้นผมได้อีกด้วย

การป้องกันพิษจาก GHB

1.ไม่เสพ GHB ไม่ถือว่าGHB เป็นสารนันทนาการ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

2.กฎหมายห้ามการครอบครอง การซื้อขาย GHB ต้องบังคับอย่างจริงจัง เหมือนยาเสพติดตัวหนึ่ง

3.ไม่ไปยังสถานที่อโคจรสถาน หากจะไปงานปาร์ตี้ ต้องแจ้งให้ผู้ปกครองหรือเพื่อนสนิททราบ ไม่ไปสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ไปกับบุคคลที่ไม่คุ้นเคย ไม่อยู่กับบุคคลไม่คุ้นเคย ควรมีเพื่อนสนิทที่สามารถดูแลซึ่งกันและกันไปด้วย แม้แต่การออกเดตตามวัฒนธรรมตะวันตกก็ควรต้องระมัดระวัง

4.หากงานปาร์ตี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องระมัดระวังดูแลแก้วของตนเองเป็นอย่างดี ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก จนขาดสติ ไม่สามารถระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง

5.หากมีอาการเมาหรืออาการผิดปกติ ไม่สัมพันธ์กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม โดยเฉพาะอาการอาเจียนมาก สติเลื่อนลอย พูดไม่รู้เรื่อง ชัก นอนหลับจนปลุกไม่ตื่น ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image