เดินหน้าชน : ทำไมล้มดีล‘LNG’ โดย : สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ออกมาเคลื่อนไหวอีกครา

ล่าสุด คัดค้านมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ “กบง.” (ชุดใหม่-ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ให้ยกเลิกแผนการนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 1.5 ล้านตันต่อปีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เหตุใด “สร.กฟผ.” ออกมาค้าน…ต้องย้อนไปเมื่อ 30 กรกฎาคม 2560 บอร์ดนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ “กพช.” (ชุดเก่า) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯในขณะนั้นเป็นประธาน มีมติให้ “กฟผ.” นำเข้า LNG เพื่อส่งเสริมนโยบายการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ

จากนั้น บอร์ด กบง. (ชุดเก่า-ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงานขณะนั้นเป็นประธาน) ก็รับลูก โดยมีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ให้ “กฟผ.” จัดหา LNG จากเดิมที่ซื้อจากตลาดจร หรือ Spot มาเป็นสัญญาระยะยาว 4-8 ปี ปริมาณ 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี เพราะจะได้ราคาก๊าซต่ำกว่าแบบ Spot

Advertisement

แถมกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ราคา LNG ที่ “กฟผ.” นำเข้าต้องมีราคาต่ำกว่าสัญญาระยะยาวของประเทศ

เมื่อมีมติไฟเขียวทั้ง “กพช.” และ “กบง.” ทาง “กฟผ.” ก็รับไปดำเนินการ กระทั่งวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 จึงออกเอกสารเชิญชวนผู้ผลิตและนำเข้า LNG ทุกรายเข้ามาเสนอราคามาแข่งขันกัน โดยมี 12 รายที่เสนอมา ล้วนแต่ระดับบิ๊กๆ ทั้งนั้น รวมทั้ง “ปตท.” ด้วย

ผลปรากฏว่าผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดคือ “ปิโตรนาส แอลเอ็นจี” ของมาเลเซีย แล้ว “บอร์ด กฟผ.” ก็ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562

Advertisement

ถือเป็นมิติใหม่ที่ “กฟผ.” จะนำเข้าก๊าซ ที่มีราคาถูกกว่าสัญญาเดิมถึง 24% ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง อันจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลง 2.78 สตางค์ต่อหน่วย ช่วยประเทศชาติประหยัดได้ถึง 35,000 ล้านบาท

ดูเหมือนจะราบรื่นไปด้วยดี แต่ กบง. (ชุดใหม่) กลับยกประเด็น “Take or Pay” (ถ้าไม่รับก๊าซตามปริมาณขั้นต่ำที่ตกลงก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญา) ขึ้นมาว่าจะเป็นภาระ

ทั้งที่ “กฟผ.” ยืนยันจะไม่เกิด “Take or Pay” ได้ง่ายๆ

หากดูความต้องการใช้ไฟฟ้าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น “กฟผ.” สามารถนำเข้าก๊าซได้ถึง 1.89 ล้านตัน ที่จะไม่ทำให้เกิด “Take Or Pay” เพราะปัจจุบัน กฟผ. นำเข้าเพียง 0.85-1.2 ล้านตันเท่านั้น

นอกจากนี้สัญญาที่จะทำกันนั้นก็มีความยืดหยุ่น คือสามารถปรับลดปริมาณนำเข้าไว้ระหว่าง 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี ส่วนปริมาณก๊าซที่ยังไม่ได้ใช้สามารถเรียกเพิ่มมาใช้ในภายหลังได้

รวมทั้งยังมีข้อกำหนดในสัญญาด้วยว่าถ้านำเข้าแล้วไม่มีที่ใช้ หรือใช้ไม่ได้จริงๆ จนเกิดภาวะ “Take or Pay” ก็สามารถนำไปขายต่อให้รายอื่นได้

แต่ดูเหมือน บอร์ด กบง. (ชุดใหม่) ยังปักใจเชื่อว่าจะเกิดภาระ “Take or Pay” แล้วก็มีมติ (อย่างไม่เป็นทางการ) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ให้ “กฟผ.” เปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อก๊าซไปเป็นแบบ Spot ในปริมาณ 1.8 แสนตัน

อย่างไรก็ตามการประชุม “กพช.” (ชุดใหม่) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ ต้องรอลุ้นกันว่าหากเรื่องนี้เข้าสู่ “กพช.” (ชุดใหม่) แล้วจะมีมติออกมาทางไหน

ด้วยเพราะเรื่องนี้เป็นช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่า-ใหม่ แต่ก็มีนายกฯคนเดียวกันที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่เปลี่ยนไปคือเก้าอี้ประธานบอร์ด “กบง.” แต่กระนั้น “สนธิรัตน์” ที่เป็นประธานบอร์ด “กบง.” (ชุดใหม่) ก็เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเก่าเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อนโนยายนี้เริ่มออกมาจาก “กพช.” (ชุดเก่า) ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นประธาน หากเรื่องกลับเข้ามาสู่ “กพช.” (ชุดใหม่) ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นประธานคนเดิม แล้วเกิดมีมติเปลี่ยนไปจากเดิม ก็คงต้องชี้แจงกันยาวว่าทำไมนโยบายถึงเปลี่ยนไปมา

ทั้งที่ดีลครั้งนี้ถือว่าดีมาก ทั้งเรื่องราคาก๊าซที่ต่ำและเงื่อนไขสัญญาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชน

หากล้มดีลนี้ นโยบายที่จะผลักดันให้ไทยเป็น “LNG HUB” แห่งอาเซียนก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีการเปิดเสรีก๊าซที่แท้จริง

แล้วคงมีคำถามตามมาว่าทำไมต้องล้มดีลนี้

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image