เอกชนปลื้ม“ชิมช้อปใช้”กระแสตอบรับดี เล็งขอข้อมูลรัฐวัดผลสำเร็จ

“ชิมช้อปใช้”ลงทะเบียน 3 วัน กระแสตอบรับล้มหลาม ผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 7 หมื่นราย รอประเมินโครงการตอบโจทย์เท่าใด หลังผู้ได้สิทธิ์ใช้เงิน หวั่นใช้จ่ายกระจุกในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวได้จริง

นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจ ท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เปิดเผยว่า หลังจากเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ในมาตรการชิมช้อปใช้ เพื่อรับเงิน 1,000 บาท และนำเงินส่วนนี้ไปใช้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย หากประเมินจากการลงทะเบียนแล้วก็ดูจะคึกคักมาก เพราะตอนแรกก็เป็นกังวลกันว่า มาตรการดังกล่าวจะได้รับความสนใจหรือไม่ แต่พอเห็นจำนวนผู้ลงทะเบียนที่เต็มอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเช้าของวัน ทั้งวันที่ 24-25 กันยายน ที่ผ่านมา และวันเปิดให้ลงทะเบียนวันแรกก็ถึงกับเว็บไซต์ลงทะเบียนล่มชั่วคราว แสดงว่ามีคนสนใจเข้าไปลงทะเบียนพร้อมกันจำนวนมาก จึงมองว่าในแง่การตอบรับจากประชาชนที่รอใช้วิทธิ์ถือว่าดีมาก รวมถึงในฝั่งผู้ประกอบการเองก็มีการตอบรับที่ดี เนื่องจากขณะนี้พบว่า มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 7 หมื่นรายทั่วประเทศ และยังมีการขยายเปิดรับผู้ประกอบการให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มเติมอีก ทำให้คาดว่าร้านค้าน่าจะมีเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้สิทธิ์จำนวนกว่า 10 ล้านราย

นายภูริวัจน์ กล่าวว่า ในระยะต่อไป ต้องติดตามหลังจากการลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้วว่า ประชาชนที่ได้รับเงิน 1,000 บาท มีการใช้เงินในส่วนใดบ้าง ก่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจริงหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่ามีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาร่วมโครงการด้วย ทำให้กังวลว่าจะเกิดการเดินทางอย่างแท้จริงได้หรือไม่ หรือมีการนำเงินที่ได้รับไปซื้อของในห้างเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหากผู้ได้รับสิทธิ์ นำเงินที่ได้ไปใช้ในการออกเดินทางท่องเที่ยว ก็จะเกิดการใช้จายในแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนต่างๆ และกระจายรายได้หมุนเวียนอย่างทั่วถึง สวนทางกับการนำเงินที่ได้ไปใช้ซื้อของในห้าง ที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจตามจุดประสงค์ของโครงการแล้ว ยังทำให้ประโยชน์ที่ควรจะเกิดกับประเทศ เกิดแค่กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่แค่รายสองรายเท่านั้น แต่หากผู้รับสิทธิ์นำเงินไปซื้อที่ห้างในแหล่งท่องเที่ยว ก็อาจจะพอช่วยเพิ่มการใช้จ่าบในแหล่งท่องเที่ยวได้บ้าง

“อยากได้ข้อมูลจากภาครัฐว่า คนที่ได้เงินแล้วไปเที่ยวที่ใดบ้าง ใช้เงินในส่วนใดเพิ่มบ้าง และเกิดการใช้เงินในการเดินทางท่องเที่ยวจริงหรือไม่ มีส่วนช่วยกระจายรายได้ลงสู่แหล่งท่องเที่ยวจริงหรือไม่ เพราะเงินจำนวน 1,000 บาท หากมีการเดินทางจริง เชื่อว่าจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มอีกกว่า 2-3 เท่า จาก 1,000 บาทที่ได้รับไป เพราะเงินพันเดียวคงไม่ได้ครอบคลุมการใช้จ่ายตลอดการเดินทางแน่นอน โดยอยากให้ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยข้อมูลว่าผู้ที่ได้รับเงินนำเงินไปใช่ในส่วนไหนบ้าง เพื่อประเมินว่าเกิดการใช้จ่ายมากเพียงใด ประสบความสำเร็จมากน้อยเท่าใด เนื่องจากการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชันก็ทำให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลไว้ในระบบอยู่แล้ว เพียงแค่นำข้อมูลมาประเมินร่วมกันเท่านั้น ว่ามีการใช้เงินในส่วนใดบ้าง เที่ยวที่ใดมากขึ้นบ้าง หรือกระจุกตัวอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อประเมินโครงการต่อไป”นายภูริวัจน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image