‘กสิกรไทย’ คาดเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เล็งหั่นจีดีพีปี’62 ลดฮวบเหลือโต 2.7-2.9%(ชมคลิป)

นาย​กอบ​สิทธิ์​ ศิลป​ชัย​ ผู้บริหาร​งาน​วิจัย​เศรษฐกิจ​และ​ตลาด​ทุน​ ธนาคาร​กสิกรไทย​ (เคแบงก์​)​ เปิดเผย​ว่า​ ​แนวโน้ม​ค่าเงินบาท​ในช่วงสิ้นปี 2562​ ประเมินว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในโซนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะหลุดต่ำกว่า​ 30 บาทต่อ​เหรียญ​สหรัฐ​​ และน่าจะมีความเป็นไปได้ยากมากที่จะอ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ​ 31 บาทต่อ​เหรียญ​สหรัฐ​​ โดย​ธนาคาร​กสิกรไทย​ยังคงมีเป้าหมาย​ค่าเงิน​บาทที่​ระดับ 30.50​ บาท​ต่อ​เหรียญ​สหรัฐ​ โดยมองว่าการใช้นโยบายทางการเงิน ในการเข้ามาช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เริ่มมีข้อจำกัดและเริ่มใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน เห็นได้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทปรับอ่อนค่าได้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น แล้วก็กลับมาอยู่ในโซนแข็งค่าเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ​คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย​นโยบาย​ลงอีก​ 1 ครั้ง​

“การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะประเทศไทยยังคงมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงยังมีเงินทุนต่างชาติจำนวนมากอยู่ในระบบมาก โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่มีการโยกเงินจากพันธบัตรระยะสั้นมาไว้ในพันธบัตรระยะยาวแทน ส่งผลทำให้เงินต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในตลาดทุนไทย หนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง สำหรับการบริโภคในประเทศ เชื่อว่าจะเห็นการเติบโตขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพราะได้รับอานิสงส์จากมาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่จะมีส่วนช่วยการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นในประเทศ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีให้ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นๆ ได้” นาย​กอบ​สิทธิ์กล่าว

นาย​กอบ​สิทธิ์กล่าวว่า ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน​นี้​ ธนาคาร​จะมีการทบทวน​ตัวเลข​การเติบโตของเศรษฐกิจ​ไทย โดยคาดว่าจะโตได้ในกรอบ 2.7-2.9% เพราะต้องยอมรับ​ว่า​ตัวเลข​ประมาณ​การผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เดิมคาดว่าจะเติบโต​ได้ที่ 3.1% คงเป็นไป​ได้ยาก​ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่ยังมีความยืดเยื้อ และส่งผลกดดันภาคการส่งออกของไทยให้เติบโตชะลอตัวลงอย่างมาก โดยการส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีติดลบไปแล้วถึง 2% ธนาคารจึงปรับลดมุมมองการส่งออกของไทยในปีนี้ว่าจะหดตัวลงเพิ่ม จากเดิมที่คาดว่าจะทรงตัว หรือมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 0%

นาย​กอบ​สิทธิ์กล่าวว่า ประกอบกับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเหลือ 1.38% จากเดิม 2% ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.5% แซงหน้าประเทศไทย ทำให้ภาคการส่งออกไทยต้องเผชิญกับความท้าทาย ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกด้วย ในขณะที่การลงทุนในช่วงที่ผ่านมา มีความผันผวนมากขึ้นและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงนั้น เชื่อว่าจะเห็นการมองหาการลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงมากขึ้นในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งการลงทุนในหุ้นที่ให้เงินปันผลที่ดี ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่จะเห็นนักลงทุนเริ่มมองหามากขึ้นเพื่อเข้ามาทดแทนการลงทุนในตลาดพันธบัตร

Advertisement

นาย​กอบ​สิทธิ์กล่าวว่า ถึงแม้ว่า​ภาคการบริโภค​จะดีขึ้น​จากมาตรการ​ของรัฐที่ออกมา​ ก็เป็นเพียงการประคับประคอง​มากกว่า​ เนื่องจาก​​หลักๆ แล้วปัจจัยที่​กดดัน​เศรษฐกิจ​ไทย​ เป็นเรื่องของภาคการส่งออก​และภาคการท่องเที่ยว​ ทำให้ต้อง​พิจารณา​ขับเคลื่อน​เศรษฐกิจ​ในช่องทางอื่น​ที่อาจจะ​มองข้ามไป​ อาทิ​ การบริโภค​ภายใน​ประเทศ​ รวมถึง​พิจารณา​ผ่อนคลาย​นโยบาย​ทางการ​คลัง​แทนการใช้มาตรการการเงิน ที่​ค่อนข้าง​จะขยับได้ยากแล้ว​ อาทิ​ มาตรการด้านภาษี​หลายๆ ตัว​ที่​สามารถ​ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ​ในประเทศ​ได้​ อย่างช้อปช่วยชาติ เพราะ​ปัจจัยต่างประเทศ​โดยเฉพาะ​กรณี​ของสงคราม​การค้า​ยังยืดเยื้อ​และมีความไม่แน่นอน​สูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง​ ทำให้การพึ่งพารายได้หลักจาก 2 ทางหลัก อาจจะไม่ตอบโจทย์ในภาวะปัจจุบันและเสี่ยงเกินไป

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image