‘ดีอีเอส’ เปิดตัว ‘สนง.คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล’ รับข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และจะมีผลบังคับใช้ เต็มรูปแบบในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 นั้น โดย พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า ในระหว่างนี้ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะมีผลบังคับใช้อย่าเป็นทางการใน วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 โดยในช่วงแรกของการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะตั้งอยู่ที่ชั้น 7 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ โดยมีนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนกว่าขบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จ

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องใหม่ สำหรับหลายๆ องค์กร โดยในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะจัดให้มีการสัมมนาแนะนำกฎหมาย และสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พีดีพีเอ-ไพรเวซี่ ฟอร์ ออลล์ ภายใต้แนวคิด คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดูแล ทุกภาคส่วน ก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง ทันสมัย ทั่วถึงและเท่าทัน ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นการแนะนำกฎหมายและแผนการดำเนินงานของสำนักงานแห่งนี้ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุก ภาคส่วนถึงบทบาทและหน้าที่ของสำนักงาน และที่สำคัญเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับหลากหลายภาคส่วนในการยกระดับองค์กร ให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาข้อมูล ในด้านต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในงานสัมมนาครั้งนี้ จะเชิญกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการจัดการดูแลข้อมูลของหน่วยงาน และผู้แทนกลุ่ม/สมาคม/มูลนิธิ ตลอดจนสื่อมวลชน จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ความจำเป็นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมี ประสิทธิภาพและเพื่อให้มีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจาก การถูกละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล มีการ กำหนดหลักเกณฑ์กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นหลักการทั่วไป “ปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก จนสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม การ ใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งก่อให้เกิด ความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม”

สำหรับสิ่งที่คนไทยจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ คือ 1.ป้องกันการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล 2.ปกป้องความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอันจะเกิดจากการล่วงละเมิดการสร้างความ เดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายใดๆ 3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกระทำได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็วในการก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวบุคคล ตลอดจน ต่อเศรษฐกิจโดยรวม และ 4.กฎหมายฉบับนี้ เป็นการสร้างกลไก หรือมาตรฐานการกำกับดูแลในการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล

Advertisement

“คาดว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้เพื่อยกระดับองค์กร ให้ สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และรับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสามารถรวบรวม ข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไปเป็นข้อมูลสำหรับ จัดทำคู่มือและแนวทางปฏิบัติในแต่ละด้านอีกด้วย” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image