‘สุริยะ’เผยรมว.เมตินำทัพนักธุรกิจเยือนไทย ตอกย้ำลงทุนพื้นที่อีอีซี-ไทยแลนด์4.0

รมว.เมตินำทัพนักธุรกิจเยือนไทย ตอกย้ำลงทุนพื้นที่อีอีซี-ไทยแลนด์4.0 ‘สุริยะ’ปลื้มผลโรดโชว์ตามเป้าหมาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมคารวะนายอิสซู ซูกาวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น(เมติ)และได้ตอบรับคำเชิญของไทยที่จะนำคณะนักธุรกิจของญี่ปุ่นมาเยือนไทยอีกครั้งเพื่อมาศึกษาความพร้อมและโอกาสการส่งเสริมการค้าและการลงทุนต่อเนื่องกับไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) หลังจากรัฐมนตรีเมติคนก่อนเคยนำคณะธุรกิจญี่ปุ่นราว 500-600 คนมาเยือนไทยปลายปี2560 และได้ลงไปศึกษาพื้นที่อีอีซี

นายสุริยะกล่าวว่า รัฐมนตรีเมติยินดีสานนโยบายคอนเนค อินดัสทรี ของญี่ปุ่น ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่นไปสู่ 4.0 และเชื่อมกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) พร้อมให้ความร่วมมือปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของไทยโดยเฉพาะการสนับสนุนการดึงลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ และระบบหุ่นยนต์ หลังจากเมื่อเร็วๆนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)ลงนามกับสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นส่งเสริมเทคโนโลยี เพื่อพัมนาอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย ซึ่งกสอ.วางเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเอสไอ(ผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบและติดตั้งระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม) 1,400 รายภายใน 4 ปี

นายสุริยะกล่าวว่า ได้หารือกับนายทาเคชิ อุชิยามาดะ ประธานสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นส่งเสริมเทคโนโลยี และในฐานะประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด ที่ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับโรงงานในประเทศไทย ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้ถึงปีละกว่า 750,000 คัน ซึ่งโตโยต้ายังยืนยันแผนการผลิตรถยนต์ในไทยปี 2568 จำนวนทั้งหมด 15 ล้านคัน อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) 5 แสนคันและรถพลังไฟฟ้าปลั๊ก-อินไฮบริด 5 ล้านคัน โดยมองว่าอีวียังมีข้อจำกัดราคาแบตเตอรี่สูง สถานีชาร์จน้อย

Advertisement

นายสุริยะกล่าวว่า ได้หารือกับ นายอิชิซูกะ ฮิโรอากิ ประธานองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงานผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงนโยบาย บีซีจี คือ ไบโอ อีโคโนมี , เซอร์คูลา อีโคโนมี และกรีน อีโคโนมี เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 2 ประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image