บอร์ดอีอีซี จ่อดัน “มาบตาพุด” เข้าครม.พรุ่งนี้ จี้รฟท.มอบพื้นที่ให้เอกชน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดอีอีซี โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 4 โครงการในอีอีซี ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.) ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบก็พร้อมลงนามทำสัญญาร่วมกันทันที 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการต่อ โดยกำหนดพิจารณาเอกสารทางเทคนิคให้จบภายในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ และเปิดซองการเงิน เพื่อหาผู้เข้าเจรจาสัญญา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ตุลาคมนี้ได้เช่นกัน

นายคณิศ กล่าวว่า 3.ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปรีดเทรน) ได้รับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการวางกำหนดการส่งมอบที่ดินให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะส่งมอบที่ดินทั้ง 72% ให้เอกชนภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จไดิตามกำหนด โดยที่ประชุมยังเห็นชอบให้ รฟท.ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์นี้ เพื่อสรุปแผนย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ ออกนอกเขตที่ดินที่จะก่อสร้างโครงการด้วย ซึ่งที่ดินนี้มีสัดส่วนประมาณ 22% โดยแผนการย้ายจะต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เพราะรฟท.จะมีการลงนามในสัญญากับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี

นายคณิศ กล่าวว่า รวมถึงที่ประชุมได้พิจารณาในเรื่องหลักๆ คือ การเห็นชอบในระบบการใช้บริการเบ็ดเสร็จ อีอีซี -โอเอสเอส (EEC-OSS) โดย สกพอ.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริการรับคำขออนุมัติ อนุญาต และประสานหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 ฉบับ รวมถึงการเห็นชอบให้ดำเนินการแนวทางการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี เพื่อให้สามารถตอบสนองงานที่มีความต้องการบุคคลากรและการพัฒนาประเทศ และการรับทราบการแก้ไข (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … รวมถึงการเห็นชอบ แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ส่งหนังสือกลับไปให้กลุ่มซีพีและพันธมิตร ซึ่งเป็นเอกชนที่ผ่านคัดเลือกในการเข้าร่วมลงทุน โดยแจ้งถึงการส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 72% หลังจากที่เซ็นสัญญาร่วมทุนแล้วเสร็จ เนื่องจากเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ติดกับที่ดินที่ถูกบุกรุก ในส่วนของที่ดินที่ถูกบุกรุกก็จะเร่งติดตามเวนคืนให้เร็งที่สุด พื้นที่ที่ติดตามคืนยาก ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุก แต่เป็นที่ดินที่มีการติดตั้งสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ เสาไฟฟ้าแรงสูง ท่อปะปา ท่อน้ำมัน ซึ่งมีความยากในการเคลื่อนย้าย โดยการย้ายสาธารณูปโภค อาทิ กระทรวงพลังงานจะเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 จุด ย้ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงยาว 14 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 39 จุด ย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคม โดย รฟท.ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม. รวมทั้งเร่งรัด พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ. … ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การส่งมอบพื้นที่โครงการ เป็นไปตามแผนงานและก่อสร้างเสร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image