การส่งออกที่ส่งไม่ค่อยออก : สมหมาย ภาษี

เมื่อต้นปี 2562 นี้ ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน ได้มีการคาดการณ์โดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าการส่งออกไทยจะวูบถึงแสนล้านบาท โดยได้ประมาณการว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะโตแค่ 4.4% เทียบกับปี 2561 ซึ่งโต 6.7% และปี 2560 ที่โต 9.9%

ผ่านมาแค่ 8-9 เดือน บัดนี้การพยากรณ์เรื่องการส่งออกของไทยถูกปรับให้ต่ำลงทุนสำนักรายงานล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาการส่งออกติดลบ 4% โดยในช่วง 8 เดือนของปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว การส่งออกลดลงไปแล้ว 2.19% และมีการคาดการณ์ว่าทั้งปี 2562 นี้น่าจะขยายตัวให้ 0% ดังนั้นมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะวูบจากที่คาดไว้ตอนต้นปีถึงสามแสนห้าหมื่นบาท มันหนักหนาสากรรจ์นะครับท่าน เอาแล้วไง มันเกิดอาการที่เรียกได้ว่า “การส่งออกที่ส่งไม่ค่อยออก” ขึ้นมาแล้ว

ตอนต้นปีที่คาดกันว่าจะวูบแสนล้านบาทนั้น มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2562 คาดว่าจะได้ประมาณ 8.0 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้าการส่งออกปีนี้โตไม่ได้ 4.4% ที่คาดกันไว้เมื่อตอนต้นปี แต่กลับจะได้ 0% หรืออาจจะติดลบ ขอให้ใจเย็นอีกไม่นานเกินรอก็จะได้เห็นผลร้ายออกมาเป็นพวง

ก่อนที่จะตั้งคำถามกันว่าประเทศชาติจะไปรอดกันอย่างไรในปีนี้และปีหน้า ขอให้มาดูโครงสร้างของการส่งออกของไทยให้รู้เรื่องกันก่อน จากตัวเลขของทางการและจากการรับรู้กันในหมู่นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยในขณะนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP แต่ละปีต้องพึ่งการส่งออกถึง 65% หรือสองในสาม ดังนั้นเมื่อเครื่องยนต์ตัวนี้เดินไม่ได้ดี ลองคิดดูง่ายๆ นะครับ ถ้าเรานั่งเครื่องบินที่มี 4 เครื่องยนต์ ถ้าเรารู้ว่าเครื่องยนต์สองเครื่องหรือสามเครื่องทำท่าจะไม่ดีเราจะรู้สึกอย่างไร และยิ่งรู้ว่ากัปตันใหญ่ไม่ค่อยจะประสีประสาด้วยแล้ว ความสะพรึงกลัวของผู้โดยสารก็จะมีมากขึ้นแบบขนลุก

ADVERTISMENT

ประเทศไทยใครๆ ก็บอกว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก แต่สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกมีไม่ถึง 15% ของมูลค่าสินค้าออก แต่ส่วนใหญ่ 65% ของการส่งออกที่หล่อเลี้ยงตัวเลขการส่งออกของไทยให้เป็นเสาหลักอยู่ทุกวันนี้เป็นสินค้าด้านอุตสาหกรรม ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของชาวต่างประเทศส่วนน้อยเป็นของชาวไทย ผลิตได้ดีและมากเท่าไหร่ ต่างชาติก็ได้ส่วนแบ่งมากไปเท่านั้น ทรัพยากรของไทยไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ วัตถุดิบ แรงงานไทย และการเอื้ออาทรทางภาษี ถูกชาวต่างชาติเข้ามาตักตวงหาผลประโยชน์กันทั้งนั้น

โครงการใหญ่อย่าง EEC หรือที่ชื่อว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ก็เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดถวายให้นักลงทุนชาวต่างชาติเป็นหลัก เพราะคนไทยความสามารถในการผลิตด้านอุตสาหกรรมสำคัญๆ สู้ใครเขาไม่ได้

ADVERTISMENT

ที่เรียกว่าเป็นการส่งเสริมการลงทุน ก็คือการส่งเสริมให้เขามาลงทุน โดยประเทศเราจัดทรัพยากรของเราพร้อมที่ทางให้ แถมด้วยการงดหรือลดการเก็บภาษีที่ควรเก็บเข้าประเทศให้เขาอย่างมากเป็นพิเศษลดหย่อนสถานะการเป็นคนต่างด้าวของนักลงทุนและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานให้น้อยลงมาก จนเขาเหล่านั้นมีสภาพเป็นคนไทยเกือบเต็มตัว นี่คือแนวทางพัฒนาชาติของรัฐบาลไทยที่มาจากทั้งการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งก็พอกัน

สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ส่งออกจากประเทศไทย ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์แผงวงจร (ประมาณ 14%) ยานพาหนะ (ประมาณ 13%) เครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์ (ประมาณ 7.5%) และผลิตภัณฑ์อาหาร (ประมาณ 7.5%) เป็นต้น สินค้าอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้ส่วนใหญ่ประเทศไทยส่งออกไปในรูปเป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ (Supply Chain) ไปยังต่างประเทศเพื่อให้เขานำไปผลิตสินค้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะการส่งไปจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งในตอนนี้จีนกับสหรัฐมีสงครามการค้ากันอย่างนัวเนีย การส่งออกของไทยก็ได้รับ
ผลกระทบโดยตรงมาก

ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่ส่งออกแบบนี้ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค อื่นๆ ก็มีรูปแบบการส่งออกสินค้าแบบนี้ ต่างก็ได้รับผลกระทบคล้ายๆ กัน เราก็ยิ่งได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของประเทศเหล่านี้ด้วย ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปตามๆ กัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้านี้ ก็แผ่กระจายไป ยิ่งส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกมีอำนาจซื้อลดลงอย่างรวดเร็ว การอับเฉาและซบเซาจนถดถอยของการส่งออกทั่วโลกจึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น และจะลากยาวต่อไปอีกเป็นปี

ที่เห็นอยู่นี้ยังไม่ใช่จุดใกล้จะสิ้นสุด แต่เป็นจุดที่จะยิ่งเพิ่มภาวะถดถอยทั้งการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้แผ่ขยายออกไปและจะเพิ่มแรงกระทบมากยิ่งขึ้น จะมองในแง่ดีอย่างไรก็ดีขึ้นไม่ได้ ยิ่งในประเทศที่มีรัฐบาลที่ง่อนแง่นขาดวิสัยทัศน์และมีแต่ความเชื่องช้าก็จะยิ่งร้ายหนักกว่าประเทศอื่น

ทีนี้ถ้ามีผู้ถามว่า ถ้ารัฐบาลตื้อตันและขาดวิสัยทัศน์ แถมยังมัวโต้เถียงกันแต่เรื่องไม่เป็นสาระ แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม หรือจะรอให้มีนกกระสากลุ่มใหม่โผบินเข้ามาแทน

ผมเห็นว่าเมื่อทั่วโลกต่างก็เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยกันเช่นนี้ ผู้นำทุกชาติที่มีสัญชาตญาณของการทำงานเพื่อประชาชนของตน จะต้องรีบหาวิธี หามาตรการ และหานโยบายที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี

การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในกรณีของประเทศไทยจะทำยังไงดี จะรีบเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีจะดีไหม จะรีบไปแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ มาดูปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขจะดีไหม คำถามเหล่านี้คนส่วนใหญ่คงส่ายหน้า เพราะมันเป็นวิธีแบบไทยๆ ที่ผลออกมามักไม่ได้เรื่องแถมยังเชื่องช้าเสียเวลาเปล่า ประชาชนก็คงจะกินแห้วกันต่อไปแน่ๆ

การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้นั้น จำเป็นที่ผู้นำประเทศและบรรดาเสนาบดีของท่านจะต้องคิดแนวทางและมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วนออกมาจะต้องมองปัจจุบันให้เป็นและแตกฉาน ไม่ใช่ไปคิดถึงแต่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งตอนนี้มีแต่ตัวเลข การลงทุนจริงจะเกิดเป็นรูปธรรม ก็จะใช้เวลาอีก 5-6 ปี หรือที่ดูทะแม่งๆ กันใหญ่คือดันไปวาดฝันถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และภาคตะวันตก ที่ว่าไปกันใหญ่ก็คือทั้งท่านรัฐมนตรีคลังที่ได้เอาเรื่องนี้ไปพูดนำเสนอในที่ประชุมสัมมนาใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน และท่านนายกรัฐมนตรีก็พูดตามให้สื่อและประชาชนฟังด้วย แต่ประชาชนไม่เคยได้ยินจากคนในรัฐบาลพูดเรื่องที่จะแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำขนาดหนักในปัจจุบันนี้แต่อย่างใดเลย

ในฐานะที่ผมเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ผมอยากเห็นเรื่องที่รัฐบาลจะกระทำโดยเร่งด่วนอย่างน้อยดังต่อไปนี้

ประการแรก ควรที่ท่านนายกและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พยายามไปเปิดการเจรจาการค้ากับต่างประเทศคู่ค้าที่เราสนใจ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นประเทศใหญ่ แต่เป็นประเทศที่เป็นคู่ค้า ในลักษณะตัวต่อตัวทีละประเทศ (Bilateral Trade Deal) ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ การเปิดการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นโดยประธานาธิบดีทรัมป์และนายกฯอาเบะ ได้ลงนามกันไปแล้วเมื่อวันที่ 25 กันยายนนี้ ซึ่งในช่วงใกล้ๆ กันนี้นายกฯโมที (Modi) ของอินเดียก็ได้ไปเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์ในลักษณะเดียวกัน และก็ได้เซ็นบันทึกช่วยจำกันเรียบร้อยแล้ว ของไทยถ้าจะถามว่าเราขายข้าวในช่วง 8 เดือนของปีนี้ตกต่ำไปถึง 44.7% ขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตกต่ำไป 25.3% ยางพาราตกต่ำไป 9.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งต่ำมาก รัฐบาลนี้ได้เอาใจใส่หรือไม่ แค่ไหน

สำหรับเรื่องนี้เป็นที่น่ายินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้นำคณะผู้บริหารของกระทรวงและคณะผู้แทนการค้าภาคเอกชนเดินทางไปทำการขายสินค้าไทยที่อินเดียในระหว่างวันที่ 24-28 กันยายนที่ผ่านมา ตามข่าวทราบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการขายยางพาราและเร็วๆ นี้ก็จะไปจีนอีก แม้น้ำหนักจะน้อยเพราะหัวหน้าคณะไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่ก็ดีกว่าไม่มีใครทำอะไรเลย ถ้าจะให้ดีกว่านี้ท่านควรจัดแบบนี้เดือนละ 2 ครั้ง จึงจะพอช่วยการส่งออกไม่ให้ติดลบในปีนี้

ประการที่สอง ผมอยากเห็นท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เข้าไปหาและดูให้เห็นชัดๆ ว่าการประกอบการขนาดย่อยที่เรียกว่า SME แต่ละประเภทที่ผลิตเพื่อส่งออกของไทยใครโดนผล
กระทบอะไรกันบ้าง นักวิชาการได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า ปัจจุบันนี้ SME ถูกกระทบ (Disrupt) จากเทคโนโลยีมาก ทำให้หลายๆ ประเภทต้องโงนเงนจะไปไม่รอด ยิ่งลงทุนเพิ่มกลับไม่มียอดขายเพิ่มรีบเข้าไปดูและแก้ให้ถูกจุดเถอะ แล้วรีบนำมาตรการเร่งด่วนที่สามารถช่วยได้เร็วเข้าไปทำทันที

ประการที่สาม ผมอยากเห็นทุกกระทรวงเข้าไปดูงบประมาณปี 2563 ที่จะนำเสนอต่อสภาในปลายเดือนตุลาคมนี้ให้ไปงัดแงะโครงการที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ แล้วให้เตรียมการทำงานไว้ล่วงหน้า พร้อมที่จะจัดเงินให้พรั่งพรูไปสู่ชาวบ้านให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่ความสามารถของข้าราชการประจำจะทำได้ ถ้าให้ดีควรสั่งข้าราชการประจำทั้งหลายให้หยุดวิ่งตามนายหรือเอาแต่ห้อมล้อมนาย เลิกเสียทีเถอะ เอาเวลาไปทำงานกับประชาชนให้มากกว่าที่เคยเสียบ้าง
พร้อมๆ กับเรื่องนี้ อยากจะกราบไหว้วอนให้รัฐบาลเลิกสร้างหนี้เพิ่มให้กับประชาชนรากหญ้าเสียที ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ควรหาวิธียกเลิกมาตรการเก่าๆ แล้วปรับตัว 360 องศา เพื่อให้ได้วิธีช่วยชาวไร่ชาวนาแบบใหม่ๆ อย่าคิดแต่ทำงานเดิมแบบไม่ออกแรงไปทุกๆ ปี

ประการที่สี่ สุดท้าย ผมอยากเห็นผู้รับผิดชอบดูแลนโยบายการเงินของประเทศให้ปรับความคิดความอ่านที่ยึดถือมานานนมเสียที ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่ต้องมีความแน่วแน่ในการรักษาเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ (International Reserves) แต่หากเศรษฐกิจตกต่ำและมีการส่งออกเป็นตัวดึงให้ตกต่ำอย่างรุนแรงเช่นปัจจุบัน ประชาชนและธุรกิจประสบความย่ำแย่เห็นอยู่ตำตาเช่นนี้ ความคิดความอ่านที่ออกมาเป็นแนวทางในการรักษาเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไว้แบบตั้งการ์ดสูงตลอดไปเช่นนี้ ไม่ได้ช่วยรักษาสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดูดีเลย

ตรงกันข้ามเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงมากของไทย เข้าใจว่าติดอันดับ 10 ประเทศที่มีทุนสำรองสูงของโลกกลับให้ผลในทางลบต่อประเทศในยามนี้

ที่น่ากลัวคือความคิดความเข้าใจที่ผิดๆ ของบรรดานักการเมืองไทยตั้งแต่ระดับหัวลงมาที่เชื่อว่าทุนสำรองระหว่างประเทศหรือ International Reserves ที่สูงนี้ แม้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไรเราก็จะไม่เป็นอะไร จะใช้งบประมาณแต่ละปีที่แสนจะกระเบียดกระเสียรไปในเรื่องเลอะเทอะมากเท่าไหร่ เราก็จะไม่เป็นอะไร สิ่งที่บ่งบอกว่าผู้นำของเราไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังทรุดหนักจะเห็นได้จากโอกาสที่ท่านนายกฯไปประชุม UN ท่านได้กล่าวปาฐกถาในงานเอเชียโซไซตี้ที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมาว่า ต่อจากนี้ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2579 (อีกประมาณ 18 ปี) มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

อะไรอยู่ในความคิดของผู้นำของเราที่ไปแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุม UN ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำของทั้งโลกครั้งนี้ เป็นเรื่องทั้งน่าคิดและน่าเป็นห่วง ชาวโลกที่มีความรู้กว้าง เขาต่างก็รู้ดีว่าประเทศไทยเราได้รัฐธรรมนูญมาใช้ในการเลือกตั้งอย่างไร เขารู้ดีว่าการเลือกตั้งในประเทศเราบริสุทธิ์แค่ไหน เขารู้ดีว่าสมาชิกผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีความทรงเกียรติกันแค่ไหน ในโลกปัจจุบันนี้เขาสื่อกันได้หมดทั้งชัดและเร็วครับ

เอาละครับ อีกไม่เกิน 100 วันก็จะสิ้นปี 2562 แล้ว ขอให้ท่านผู้อ่านคอยติดตามก็แล้วกันว่า การส่งออกของไทยจะโตเกิน 0% หรือไม่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้และที่จะลากยาวไปตลอดปีหน้า คงจะได้เห็นกันในเร็วๆ นี้

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image