พลังงานถกรื้อถอนสิ่งกีดขวางไฮสปีดซีพี3ต.ค.นี้ เร่งสรุปพื้นที่-มูลค่า-ผลกระทบชุมชน

พลังงานถกรื้อถอนสิ่งกีดขวางไฮสปีดซีพี3ต.ค.นี้ เร่งสรุปพื้นที่-มูลค่า-ผลกระทบชุมชน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่กลุ่มซีพีชนะการประมูล ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า วันที่ 3 ตุลาคมนี้ กระทรวงพลังงานจะหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือแนวทางรายละเอียดการดำเนินการรื้อถอนสิ่งกีดขวาง ในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ในส่วนของที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน เบื้องต้นพบว่า สิ่งกีดขวางที่ต้องทำการรื้อถอน อาทิ สายส่งไฟฟ้า เสาไฟฟ้า ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซธรรมชาติ โดยจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาส่วนงานที่รับผิดชอบเพื่อมาตกลงกันว่า การรื้อถอนใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มีวงเงินเท่าไร ใช้เวลานานแค่ไหน โดยจะนำข้อสรุปเสนอต่อ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงส์ รับมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะเรียกประชุมเรื่องนี้ในสัปดาห์

“กระทรวงพลังงานได้รับมอบหมายจากกพอ. ให้ดำเนินการตรวจสอบสิ่งกีดที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ภายใน 1 ปี ซึ่งการประชุมวันที่ 3 ตุลาคม ต้องมาดูว่าเส้นทางการก่อสร้างของโครงการไฮสปีดเทรนผ่านพื้นที่ไหน กระทบกับโครงสร้างอะไรบ้าง การเคลื่อนย้ายเปลี่ยนจุดการวางโครงสร้างใหม่ อาทิ ท่อก๊าซฯ ท่อน้ำมัน เสาไฟฟ้า ต้องย้ายไปพื้นที่ไหน กระทบชุมชนหรือไม่อย่างไร หากกระทบจะดำเนินการช่วยเหลือชุมชนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในจุดไหนบ้าง”นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของนายสนธิรัตน์ที่กำชับให้รายละเอียดแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ล่าสุดอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดทั้งหมด และนายสนธิรัตน์จะเป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในกลางเดือนนี้ ซึ่งจะมีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ กองทุนหมู่บ้าน เครือข่ายประชาชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะกำหนดพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะดูจากความพร้อมของสายส่ง ความพร้อมชุมชน เชื้อเพลิง คาดว่า จะคัดเลือกพื้นที่นำร่องได้ภายในเดือนนี้ 3-4 แห่ง ผลักดันให้เกิดภายในสิ้นปีนี้

Advertisement

“เบื้องต้นการศึกษาโมเดลรูปแบบโรงไฟฟ้าแบ่งเป็นหลายประเภท อาทิ ใช้หญ้าเนเปียร์ผสมเชื้อเพลิงชีวมวล เชื้อเพลิงชีวมวลผสมกับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ และพลังงานชีวมวล ผสมกับชีวภาพ และโซลาร์ บางโมเดลจะมีต้นทุนการผลิต 1 เมกกะวัตต์ อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทต่อพื้นที่ 10 ไร่ ตอนนี้มีเอกชนสนใจลงทุนร่วมกับชุมชนแล้ว 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะยังไม่สรุปว่ากำหนดกี่เมกะวัตต์ กี่พื้นที่ เพราะต้องดูว่าพร้อมความเหมาะสม และหารือกับทุกหน่วยงานอีกครั้ง”นายกุลิศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image