เศรษฐกิจพอเพียงสร้างชนบทแข็งแกร่งยั่งยืนเสริมเศรษฐกิจสังคมของประเทศแข็งแรงมั่นคง : โดย ผดุง จิตเจือจุน

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นมรดกล้ำค่า ที่พระองค์ได้ให้กับพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ พอกินพอใช้ ไม่ลำบาก แม้จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม ไม่ว่าจะดีหรือร้าย และสามารถจะประคองตัวให้หลุดรอดมาได้จากวิกฤตผันผวนของโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นของดีมีประโยชน์ แต่น่าเสียดายที่หลายคน ไม่เห็นคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังคล้ายคนที่อยู่ใกล้เกลือกินด่าง หรือไก่เห็นพลอย เห็นของดีมีค่า แต่ไม่รู้จักใช้ ดังคำกลอนเก่าว่า “เพชรมีค่าราคายิ่ง อยู่กับลิงจะรู้ค่าราคาหรือ”

ผิดกับนานาอารยประเทศที่ได้น้อมนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านไปประยุกต์ใช้ จนเกิดประโยชน์โภชผลขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลาว, เลโซโท, กัมพูชา, ติมอร์ เลสเต, ชิลี, ตองกา, ฟิจิ, ศรีลังกา, โมซัมบิก และสำนักงานสหประชาชาติได้เห็นประโยชน์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้นำไปเผยแพร่ให้ประเทศที่เป็นสมาชิกนำได้รับรู้

ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณค่านับอเนกอนันต์นั่นเอง ประธานาธิบดีของรัสเซีย ปูติน ถึงกับได้กล่าวสดุดี ในหลวง ร.9 ที่ทรงได้แนะนำให้นำไปใช้ จนรัสเซียได้ขึ้นเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการส่งออกข้าวสาลีมากที่สุด

Advertisement

แม้รัฐจะขับเคลื่อนเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9-10-11 ก็ตาม โดยให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานรัฐนำไปเผยแพร่สู่ประชาชน ชาวบ้าน ในท้องถิ่น ชนบท ชุมชนหมู่บ้าน ตำบลทั่วประเทศ ได้นำไปปฏิบัติ ซึ่งประชาชน ชาวบ้าน ในหลายพื้นที่ซึ่งได้นำไปใช้แล้วเห็นผล ต่างประสบความสำเร็จ มีอาชีพ มีรายได้มั่นคง ปลดหนี้ครัวเรือนได้ มิหนำซ้ำยังมีเงินเหนือเก็บออมอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรในหลายพื้นที่ ก้าวพ้นจากภาวะหนี้สิ้น มีเงินไปไถ่ถอนโฉนดที่ดินจากการทำการเกษตรผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกผักปลอดสารพิษ ตั้งฟาร์มเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว เงินทองไม่ขาดมือ มีใช้ตลอดปีไม่ขัดสน

แต่ยังมีหลายชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ที่หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงยังเข้าไปไม่ทั่วถึงในพื้นที่ ประชาชน ชาวบ้าน จึงยังขาดความรู้ ความเข้าใจว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นคืออะไร ถ้านำไปปฏิบัติแล้วจะได้ผลเป็นเช่นไร หลายคนยังเข้าใจว่า ถ้าขืนทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ชาตินี้คงจะไม่มีโอกาสร่ำรวยเป็นแน่แท้ เพราะเชื่อก็บอกอยู่โทนโท่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ทำมากเกินพอเพียงไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ทีเดียว

Advertisement

เราลองมาทำความเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างง่ายๆ เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนดังเข็มทิศที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ และภาคเอกชน ให้ดำเนินชีวิตหรือกิจการงานเป็นไปในทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง หรือหย่อนเกิน

ความพอเพียง คือ พอประมาณ ในอัตภาพของตนเองไม่มากไป ไม่น้อยไป มีเท่าที่มีอยู่ตามฐานานุรูปของตน ไม่อวดไม่แข่งขันฐานะ ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “เห็นช้างขี้ อย่าได้ขี้ตามช้าง”

ความมีเหตุผล คือ ความมีเหตุผลตามหลักวิชาการ, กฎหมาย, ศีลธรรม หรือตามความจำเป็นในการดำเนินชีวิต และตามกฎเกณฑ์สังคม ซึ่งรวมประเพณี-วัฒนธรรมไว้ด้วย

มีภูมิคุ้มกันในตัว ป้องกันผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมี 4 ด้าน คือด้าน 1.วัตถุ เช่น มีเงินออก มีการประกันความเสี่ยงในอนาคต, มีการวางแผนระยะยาว และมีการลงทุนเพื่อการพัฒนา 2.ด้านสังคม คือ ต้องรู้รัก-สามัคคี, ร่วมมือร่วมใจกัน, มีคุณธรรม ฯลฯ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม มีความรู้สำนึกและหวงแหนในสิ่งแวดล้อม, มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ และ 4.ด้าน วัฒนธรรม คือ มั่นคงในวัฒนธรรมและเชิดชูวัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ (หาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ “เส้นทางสู่ … ความพอเพียง” ของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี)

แม้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะมีบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9-10-11 ก็ตาม แต่หลายรัฐบาลก็ไม่ได้นำมาขับเคลื่อนปฏิบัติกันอย่างจริงจัง มุ่งแต่จะเน้นไปที่อุตสาหกรรม หวังจากการส่งสินค้าออกเพื่อให้จีดีพีเติบโต มีเงินตราเข้าประเทศมากๆ เลยละเลยขาดการส่งเสริมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในชนบทท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงทำให้ฐานรากของชุมชนท้องถิ่นขาดความแข็งแรง ประชาชนยากจน ทำให้ลูกหลานในชนบท ต้องทิ้งถิ่นฐาน เข้าไปขายแรงงาน กลายเป็นคนจนในเมือง จนเป็นภาระแก่รัฐบาลที่ต้องเอาเงินมาโอบอุ้มเลี้ยงคนจน

หลายรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณแต่ละปีลงสู่ชนบท อัดฉีดเม็ดเงินในรูปประชานิยมแบบต่างๆ เป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้านบาท แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนมีฐานะดีขึ้น ซึ่งจากเดิม 11.4 ล้านราย เพิ่มเป็นคนจนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านราย จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 ประชาชน มี 10.8 ล้าน ครัวเรือนที่มีหนี้สินคิดเป็น 57% ของ 21 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เฉลี่ย ครัวเรือนละ 178,994 บาท

รัฐบาล ได้ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ด้วยการอัดฉีดอีก 3.16 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถพลิกฟื้นให้ชนบท ชุมชนท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล เข้มแข็งขึ้นมาได้

ดังนั้น การจะทำให้ประเทศมีฐานะมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จำเป็นจะต้องเริ่มต้นด้วยการลงหลักปักฐาน ให้ท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล ให้แข็งแรงเสียก่อน ให้ประชาชน ชาวบ้าน ทั่วประเทศ มีพอกินพอใช้ อยู่ดีกินดี มีเงินจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศ ก็จะส่งผลดีในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนตามไปด้วย

ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตรัสว่า “…เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดินเปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า รัฐจะต้องวางรากฐานของชุมชนท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล ให้แข็งแรงเสียก่อน เพราะชุมชน ท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับประเทศให้มีความแข็งแกร่ง มั่นคง นั่นเอง

แต่เพื่อให้งานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้กระจายไปทั่วทุกหนแห่งในพื้นที่ประเทศไทยและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่ประชาชน ชาวบ้านนำไปปฏิบัติเกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ เป็นอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน จำเป็นจะต้อง อาศัย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงมหาดไทย และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ เป็นตัวเชื่อมประสานติดตาม ใส่ใจ คอยดูแล และคอยเป็นที่ปรึกษา แก้ไขปัญหา ให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการ ไปด้วยดี บรรลุผลสำเร็จ

เนื่องจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิก อบต. จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิด ที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ตลอดเวลา และรู้ถึงความต้องการของประชาชน ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ย่อมรู้ดีว่า ประชาชน ชาวบ้านในหมู่บ้าน คนใด ที่ยังไม่ได้รับการอบรมความรู้ในเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะรวบรวมรายชื่อ ตั้งกลุ่มขึ้นมา แล้วเชิญวิทยากรมาอบรม ประชาชนชาวบ้านคนใด อยากจะเรียนเรื่องการทำอาหาร การทำขนม การจักสาน การช่าง การเกษตร ฯลฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องเป็นผู้จัดวิทยากรมาสอนให้ รวมถึงหาแหล่งทุนจากธนาคารออมสิน ดอกเบี้ยถูกมาสนับสนุนแก่ ลูกบ้านที่จะประกอบอาชีพ ทำธุรกิจการค้า เป็นต้น

เมื่อประชาชน ชาวบ้าน รู้หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปประยุกต์ใช้ ทำให้ชาวบ้านมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ จนมีฐานะมั่นคง ก็จะสามารถนำไปต่อยอดสร้างเครือข่ายภายในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล เกิดเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนจำหน่ายสินค้าโอท็อป การท่องเที่ยวชุมชนวิถี ตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง นั่นเอง

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยให้ประชาชน ชาวบ้าน มีหลักคิด การตัดสินใจ เป็นระบบเมื่อเงินกองทุนไฟฟ้า หรือเงินโครงการพัฒนาจากรัฐเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาชุมชน หมู่บ้าน ตำบล จะมีการใช้อย่างมี ประสิทธิภาพอย่างมีบูรณาการ มีเอกภาพ ไม่มีการจ่ายแบบเบี้ยหัวแหลกหัวแตก ในการจัดซื้อโต๊ะ, เก้าอี้, ชาม, กะละมัง ฯลฯ ดุจดังตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จะไม่บังเกิดขึ้นให้เห็นอีก

ดังที่ในหลวง ร.9 ตรัสไว้ ว่าการพัฒนาชุมชนนั้น ต้องระเบิดจากข้างในของชุมชน ซึ่งหมายถึง ทุกฝ่าย ต้องมีการประสาน มีความสามัคคีพร้อมใจ การพัฒนาภายในชุมชน จึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ประชาชน ชาวบ้านในท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล ทั่วประเทศ เมื่อมีความอยู่ดีมีสุข ไม่มีหนี้สินคนยากจน จะลดน้อยลง คนในประเทศ จะมีจิตใจ สุขสบาย ไม่เครียด ไม่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีการฆ่าตัวเกิดขึ้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงสามารถนำมาตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เพียงขอให้รัฐ รณรงค์ให้ประชาชน ชาวบ้าน ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ต้องนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาปฏิบัติอย่างจริงตัง และอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศกลับมาดี รุ่งเรืองเหมือนเดิมได้

เมื่อประชาชน ชาวบ้าน ทุกคน อยู่ดีกินดี นอนอุ่น ปัญหาอาชญากรรมจะไม่มี การโกงกินคอร์รัปชั่นก็จะไม่เกิด จะไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง กระทั่งยาเสพติดก็จะหมดไปเอง และเศรษฐกิจ การเมือง ของประเทศไทย ก็จะรุ่งเรืองวิไล สดใส สามารถพึ่งพาตนเองได้ และรัฐไม่จำเป็นจะต้องเชิญชวนนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน ด้วยวิธีการจูงใจให้สิทธิพิเศษต่างๆ ในด้านภาษี สิทธิการครอบครองที่ดิน และให้เช่าที่ดินถึง 99 ปี ในเขตพิเศษแต่อย่างใดเลย

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยกขึ้นอ้างในคำปราศรัยที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ว่า รัฐบาลได้นำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด และในปี 2579 ประเทศไทยจะร่ำรวย ซึ่งคำปราศรัยของท่านจะมีโอกาสเป็นจริงขึ้นได้ เมื่อรัฐเสริมฐานรากของชุมชน ท้องถิ่น หมู่บ้านตำบล ให้แข็งแกร่งด้วยการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เมื่อฐานรากของชุมชนแข็งแกร่ง ก็จะมาช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศ มั่นคงนั่นเอง

ผดุง จิตเจือจุน
วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดสมุทรปราการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image