การกลับมาเร็วของฝุ่นจิ๋วในกรุงเทพฯและการหายไปของหมอกควันในภาคใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา : โดย รศ.ดร.เกษมสันต์ มโนมัยพิบูลย์

จากที่เป็นข่าวมาหลายวันจนถึงปัจจุบัน (1 ตุลาคม 2562) ระดับฝุ่นจิ๋ว หรือฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงมีค่าสูงขึ้นและเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ จากการตรวจวัดรายงานของ กรมควบคุมมลพิษ และ กรุงเทพมหานคร โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนกันยายน ภาคใต้ตอนล่างของประเทศ (เช่น จังหวัดสงขลา สตูล ยะลา และภูเก็ต) ก็ประสบกับปัญหาหมอกควันที่พัดมาจากประเทศอินโดนีเซีย แต่หมอกควัน ณ เวลานี้ ก็ได้หายไปโดยคุณภาพอากาศกลับคืนสู่ปกติ (รูปที่ 1) เนื่องด้วยผมสอนและทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับบรรยากาศ-มลพิษอากาศ-ภูมิอากาศ จึงได้ลองศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นและได้เห็นว่า ทั้งสองสภาพการณ์นั้นมีสาเหตุร่วมกัน ซึ่งคือ ร่องมรสุมกับมวลอากาศ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กันและเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษในสองพื้นที่ จึงขออธิบายแก่ผู้ที่สนใจไว้ข้างล่างนี้

ร่องมรสุมเกี่ยวอะไรกับหมอกควันในภาคใต้
ร่องมรสุม หรือ ร่องความกดอากาศต่ำ (Monsoon Trough) คือ แนวของหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งทอดตัวในทิศตะวันตก-ตะวันออก เป็นบริเวณที่ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์มาก ทำให้อากาศร้อนและลอยตัวขึ้นง่าย ทำให้ความชื้นในบรรยากาศควบแน่นเป็นเมฆและฝนได้มาก กระแสลมใกล้ผิวพื้นภายในหรือบริเวณใกล้กับร่องมรสุมจะมีกำลังที่อ่อน โดยทั่วไป ในเดือนกันยายน ร่องมรสุมจะพาดอยู่ที่ภาคกลางและภาคอีสาน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนมากและชุ่มชื้น ขณะที่ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียมีฝนน้อยเกิดสภาพแล้งสะสม และมีการเกิดไฟหรือการเผาในที่โล่งค่อนข้างมากจากการถางบุกรุกป่าและการเตรียมพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยที่ ลมสินค้า (Trade Wind) ที่พัดผ่านประเทศอินโดนีเซียในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมมีแนวโน้มพัดไปยังทิศเหนือมุ่งสู่ร่องมรสุม ถ้ามีกำลังแรง ก็จะหอบหมอกควันพัดสู่ประเทศไทยได้มาก

ทําไมหมอกควันจึงหายไป
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจุดไฟเกิดขึ้นหนาแน่นจำนวนมากบนเกาะสุมาตรา-บอร์เนียว-จาวา ของประเทศอินโดนีเซีย (รูปที่ 2) และยังพบว่า ร่องมรสุมกลับเลื่อนลงไปทางทิศใต้ค่อนข้างมากผิดปกติ (รูปที่ 3) ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับรูปแบบของแนวร่องมรสุมในช่วงกลาง-ปลายเดือนตุลาคม ด้วยเหตุนี้ กระแสลมที่พัดหอบหมอกควันมายังภาคใต้ตอนล่างจะมีกำลังอ่อน ด้วยที่ร่องมรสุมเหนี่ยวนำให้มีฝนมากขึ้น จึงเป็นการช่วยชะล้างสารมลพิษในอากาศได้อีกด้วย สำหรับปัจจัยอะไรที่ทำให้ร่องมรสุมเคลื่อนต่ำลง ก็มาจากการแผ่ลงมาของความกดอากาศสูงกำลังปานกลางซึ่งเป็นมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน (Cold Surge) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากไซบีเรีย แต่ต่อมาแตกออกไปเป็นหย่อมกดอกาศสูงที่บริเวณจีนตอนกลางและตะวันออก
แล้วได้แผ่เป็นลิ่มลงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อพิจารณาความแรงของร่องมรสุม ก็พบว่าไม่ได้ต่างจากช่วงเวลาที่ใกล้เคียงหรือเดียวกันของปีอื่นก่อนหน้า (เช่น 1,006-1,010 มิลลิบาร์) ถ้าประยุกต์ใช้หลักอนุรักษ์มวล-พลังงานแบบหยาบๆ สำหรับหย่อมอากาศที่เกี่ยวข้อง ก็อาจกล่าวว่า การแผ่ของความกดอากาศสูงเป็นสาเหตุหลักของการเคลื่อนต่ำลงของร่องมรสุม

Advertisement

รูปที่ 2 (เครดิต: องค์การนาซ่า)

Advertisement

รูปที่ 3 (เครดิต: กรมอุตุนิยมวิทยา)

ฝุ่นจิ๋วในกรุงเทพฯหลังการแผ่ของมวลอากาศ
การแผ่ของความกดอากาศสูงได้ปะทะกับมวลอากาศอุ่นบริเวณภาคกลางตอนล่าง (ประมาณ 21-23 กันยายน 2562) ก่อให้เกิดลมกรรโชกและฝนตกในช่วงแรก หลังจากนั้น ก็เข้าสู่สภาพอากาศนิ่งและลมสงบ เนื่องด้วยความกดอากาศสูงเป็นมวลอากาศเย็นจึงเหนี่ยวนำให้ชั้นบรรยากาศจากผิวพื้นที่สามารถเจือจางสารมลพิษได้มีค่าน้อยลง (ตามหลัก Frontal-Like Inversion) ซึ่งทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นจิ๋วสะสมสูงขึ้นตามเวลา จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมานั้นจะมีกำลังอ่อนลงและหายไป ลมและฝนก็จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณภาพอากาศมีแนวโน้มดีขึ้นตามไป

สรุป และหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
การแผ่ของความกดอากาศสูงเป็นปัจจัยทำให้เกิดสภาพอากาศนิ่งและไม่ดีสำหรับปัญหาฝุ่นจิ๋วในกรุงเทพฯ แต่ก็ช่วยผลักร่องมรสุมให้เคลื่อนต่ำลงไปผิดปกติซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันในภาคใต้ได้ ลักษณะหรือรูปแบบสภาพอากาศที่กล่าวมานี้มีแนวโน้มที่จะเห็นหรือเกิดในช่วงปลายฝนต้นหนาวมากกว่าที่จะเห็นในเดือนกันยายน จากที่ผู้เขียนตรวจสอบข้อมูลในอดีตอย่างคร่าวๆ (ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา) พบว่า สภาพดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2558 ดังนั้น จึงมองว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว หลังจากนี้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมก็น่าจะมีฝนมีลมมากขึ้น อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางภาคประชาชนและภาครัฐก็คงต้องเฝ้าระวังกันทั้งปัญหาฝุ่นจิ๋วในเมืองและหมอกควันข้ามแดนต่อไป ดูแลรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

รศ.ดร.เกษมสันต์ มโนมัยพิบูลย์
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image