เรืองชัย ทรัพย์นิรันดน์ : การเป็นนักกฎหมายคือการอธิบายคำถาม ไม่ใช่ตอบคำถาม?

ศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนแนะนำหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” ของวิษณุ เครืองาม ผมว่าไว้ว่า หลังวันอภิปราย โดยไม่มีการลงมติเรียบร้อย จึงพบว่า ความเป็นนักกฎหมายของรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เป็นเรื่องน่าศึกษาทั้งวิธีการตอบญัตติ และวิธีการรับคำถามมาเต็มๆ พร้อมกับอธิบายว่า ผู้ถาม ถามว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร

และว่ารองนายกรัฐมนตรีมีความจำเป็นเลิศ และมีความสามารถพิเศษที่นำความจำนั้นมารวบรวมเรียบเรียงเป็นคำอธิบายคำถามให้ผู้ถามไม่ลืมคำถามตัวเอง และไม่รู้ว่ารองนายกฯ วิษณุ ตอบคำถามนั้นว่าอย่างไร รู้แต่ว่าที่ถามไปนั้นมีความหมายว่าอย่างงั้นอย่างงี้ เป็นเรื่องระหว่างใครกับใครเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับผู้ถาม

ที่ว่าไปอย่างนั้น เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักอ่านและติดตามงานการเมืองมาโดยตลอด “ไลน์” มาบอกว่า เข้าใจที่ผมเขียนอย่างนั้น ว่าเป็น
อย่างงี้ เท่านั้น แต่เพื่อนยังไม่เข้าใจว่าที่ผมจะอธิบายถึงการตอบคำถามของรองนายกรัฐมนตรีว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ส่วนใครที่เข้าใจแล้วว่าผมจะอธิบายเรื่องที่ วิษณุ เครืองาม ตอบคำถามการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนคืออย่างไร เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านซ้ำก็ได้

Advertisement

ว่ากันถึงเรื่องแรกก่อน เนื่องจากการถามครั้งนี้ เป็นคำถามถึงนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการถามถึงรัฐ มนตรีคนอื่นบ้าง เช่นรองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม จึงไม่จำเป็นต้องตอบ ที่รองนายกรัฐมนตรีตอบคำถามนั้น เป็นการตอบแทนนายกรัฐมนตรี ทั้งไม่น่าจะทราบว่า นายกกรัฐมนตรีจะตอบคำถามนั้นว่าอย่างไร

เรื่องแรกที่เป็นคำตอบจาก วิษณุ เครืองาม คือการอธิบายถึงคำว่า ถวายสัตย์ปฏิญาณ คืออย่างไร หมายความว่าอย่างไร ไม่เหมือนกับการปฏิญาณตนอย่างไร

คำตอบที่สองคือ การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นกระทำใน 4 ลักษณะ เป็นการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ เท่านั้น เช่นการถวายสัตย์ปฏิญาณขององคมนตรีก่อนเข้ารับหน้าที่ การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อรัชทายาทที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ รัฐมนตรี และผู้พิพากษา คณะตุลาการ

Advertisement

ส่วนการปฏิญาณตน เป็นการกระทำในกรณีอื่น เช่นปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา การปฏิญาณตนของบัณฑิต ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร หรือรับปริญญาบัตรของสถาบันการศึกษา ฯลฯ การปฏิญาณตนของลูกเสือ

จากนั้นได้อธิบายว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ ของคณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำการกล่าวนั้น เป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดมาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้….

หลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราโชวาท ดังปรากฏจากการถ่ายทอดการถวายสัตย์ปฏิญาณทางโทรทัศน์ ทำให้ผู้ชมและผู้ฟังกับประชาชนทั่วไปเห็น และทราบดีแล้วว่า มีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เรียบร้อย และพระมหากษัตริย์ทรงรับการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น ทั้งได้ทรงมีพระราโชวาทพระราชทานตอบ ภายหลังได้พระราชทานพระราโชวาทนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมายังคณะรัฐมนตรีเพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้ปฏิบัติตามพระราโชวาทนั้น

รองนายกรัฐมนตรีผู้ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีชี้แจงด้วยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีตนอยู่ด้วยเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งมิได้เป็นการปฏิญาณตนต่อผู้อื่นหรือสถาบันอื่น ดังนั้นจึงเป็นอันเสร็จสิ้นการถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้ว มาปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต่อไป คือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ส่วนการชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงรายละเอียดก่อนหน้าจะออกไปปฏิบัติหน้าที่อื่น การตอบเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณมอบให้เป็นหน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม– เข้าใจตรงกันนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image