พลังงานชงผลประชุมรื้อถอนสิ่งกีดขวางไฮสปีดอีอีซีเข้าบอร์ดบริหารอีอีซี 7ต.ค.

พลังงานชงผลประชุมรื้อถอนสิ่งกีดขวางไฮสปีดอีอีซีเข้าบอร์ดบริหารอีอีซี 7ต.ค.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมติดตามความคืบหน้าการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่กลุ่มซีพีชนะการประมูล ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ภายในระยะเวลา 1 ปี ว่า จากการประชุมร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการรถไฟแห่งประเทศ
ไทย(รฟท.) ได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการกำหนดพื้นที่ของรฟท.ที่หน่วยงานด้านพลังงานจะต้องรื้อถอน 2 พื้นที่ คือ ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ และช่วงบางซื่อ-พญาไท โดยที่ประชุมรายงานเบื้องต้นว่า ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ มีท่อน้ำมันของบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ เอฟพีที และบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด(แทปไลน์) รวมอยู่ด้วย ส่วนท่อก๊าซของปตท.นั้นจะไปพิจารณาข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้ง ขณะที่กฟผ.รายงานสายส่งที่ต้องรื้อถอนรวม 16 จุด

นายกุลิศกล่าวว่า หลังจากนี้ทั้ง 3 หน่วยงานและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะไปหารือในรายละเอียดร่วมกัน โดยจะยึดสัญญาของรฟท.ที่ให้เอกชนเช่าพื้นที่ว่ามีรายละเอียดอย่างไร กรณีต้องรื้อถอน การเคลื่อนย้ายจากพื้นที่เก่าไปพื้นที่ใหม่ผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันต้องดูรายละเอียดการตั้งในพื้นที่ใหม่ว่าจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)อีกหรือไม่ หากทำก็จะใช้เวลานานพอสมควร

“วันที่ 7 ตุลาคม จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณาถึงแผนการรื้อถอนสิ่งกีดขวางเส้นทางก่อสร้างไฮสปีดอีอีซี ตามมติกพอ. ซึ่งกระทรวงพลังงานโดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเสนอความคืบหน้าจากการประชุมครั้งนี้ให้ที่ประชุมดังกล่าวรับทราบ”นายกุลิศกล่าว

Advertisement

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในการหารือกับภาครัฐเพื่อรื้อถอนหรือเปลี่ยนเส้นทางท่อส่งน้ำมันและท่อก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา หรือโครงการไฮสปีดเทรน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้ำมันและภาคอุตสาหกรรมนั้น รูปแบบการดำเนินการอาจทำได้หลายส่วน อาทิ การโยกย้ายปรับเปลี่ยนสิ่งติดตั้งไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมแทน ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคาดว่าเป็นหน้าที่ของเอกชนผู้ดำเนินธุรกิจตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ จะต้องมาเจรจาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเรือเอฟนั้น ยอมรับว่า การลงทุนโครงการดังกล่าวล่าช้าออกไปจากแผนที่วางไว้ หลังจากมีผู้เข้าร่วมประมูล คือ กลุ่มเอ็นพีซี(ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท พีเอชเอส ออร์แกนิค ฟาร์มมิ่ง จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางและศาลฯ พิพากษาให้กรรมการคัดเลือกคืนสิทธิ์การประมูล ดังนั้นต้องรอดูว่ากพอ.จะดำเนินการอย่างไร โดยในส่วนของปตท.มองว่า หากจะมีผู้เข้าร่วมประมูลกลับเข้ามาร่วมแข่งขันเพิ่มอีกราย ถือว่า เป็นเรื่องดีและท้าทายมากขึ้น โดยโครงการนี้ ปตท.ร่วมทุนเสนอประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี(ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image