‘ถาวร’-‘แอร์เอเชีย’หารือพัฒนาเทคโนโลยี’เช็คอินด้วยใบหน้า’-โครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยาน

‘ถาวร เสนเนียม’รมช.คมนาคมประชุมร่วมแอร์เอเชีย หารือพัฒนาเทคโนโลยี’เช็คอินด้วยใบหน้า’ตั้งทีมศึกษา -โครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานในสังกัด

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับผู้แทนสายการบินแอร์เอเชีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยมี นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ประจำนายถาวร เสนเนียม) นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายสมเกียรติ มณีสถิต รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน พร้อมด้วย ผู้แทนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสายการบินแอร์เอเชีย เข้าร่วมประชุม

การประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่สายการบินแอร์เอเชียขอหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ดังนี้ 1. นวัตกรรมระบบเช็คอินด้วยใบหน้า (FACEs recognition) สายการบินแอร์เอเชียจะนำระบบเช็คอินด้วยใบหน้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก สามารถลดเวลาในการเช็คอิน และมีความแม่นยำมากกว่าระบบเอกสาร ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เสนอว่าในการนำระบบเช็คอินด้วยใบหน้ามาใช้ควรคำนึงถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดยสาร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร และความมั่นคงของประเทศ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการนำระบบเช็คอินด้วยใบหน้ามาใช้ และมอบให้ นายสมเกียรติ มณีสถิต รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน เป็นประธานคณะทำงาน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสายการบินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

2. การขยายทางวิ่ง (Runway) ในท่าอากาศยานเบตง และท่าอากาศยานแม่สอด โดยท่าอากาศยานเบตง มีแผนในการพัฒนาที่จะดำเนินการในปี 2564 ได้แก่ 1. การศึกษาการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง 2. จ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบ และก่อสร้างขยายทางวิ่ง ทางขับ บานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และส่วนประกออบอื่น ๆ ส่วนในปี 2565 จะดำเนินการจัดซื้อที่ดินและค่าชดเชย ปี 2566 – 2568 จะดำเนินการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง จาก 1,800 เมตร เป็น 2,100 เมตร ให้สามารถรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ท่าอากาศยานแม่สอด อยู่ระหว่างการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง จาก 1,500 เมตร เป็น 2,100 เมตร ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการเวนคืนแล้วเสร็จ กรมท่าอากาศยานจะเร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 และสามารถเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2564

Advertisement

3. การปรับปรุงความแข็งแรง ทางขับ ทางวิ่ง และหลุมจอด เพื่อรองรับเครื่องบิน A321NEO ของสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาด 230 ที่นั่ง ซึ่งท่าอากาศยานบางแห่งของกรมท่าอากาศยานไม่สามารถรองรับเครื่องบินขนาดนี้ได้ ซึ่งกรมท่าอากาศยาน ได้ชี้แจงว่า ในปี 2563 ได้รับงบประมาณในการบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ จำนวน 7 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานน่านนคร นครพนม นราธิวาส บุรีรัมย์ ระนอง แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์ รวมทั้งมีการก่อสร้างขยายความกว้างทางวิ่งและเสริมผิวทางวิ่ง ณ ท่าอากาศยานลำปาง และหัวหิน ทั้งนี้ ในปี 2564 มีแผนในการบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ ได้แก่ ท่าอากาศยานตรัง ร้อยเอ็ด นครศรีธรรมราช เลย และชุมพร

4. อากาศยานชนนก (Bird Strike) โดยนายถาวรมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาการใช้เทคโนโลยีมาใช้สำหรับระบบการป้องกันอากาศยานชนนก เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และความพึงพอใจของสายการบินต่าง ๆ

5. ภาระต้นทุนในปัจจุบันที่สายการบินของไทยต้องแบกรับภาระ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบให้หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม หารือร่วมกับสายการบินเกี่ยวกับข้อกำหนดการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อลดภาระต้นทุนด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image