สถานีคิดเลขที่12 : ใครเดือดร้อน! โดย จำลอง ดอกปิก

การออกมาแสดงความห่วงกังวล หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่จะเดือดร้อนกันทั่วประเทศ เกษตรกรก็เดือดร้อน

สะท้อนภาพบิ๊กตู่หวั่นวิตก กฎหมาย อันเป็นเครื่องมือสำคัญ การบริหารราชการแผ่นดิน อาจคว่ำกลางสภา

เนื่องจาก รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ พ่ายโหวตมาแล้วหลายครั้ง

อีกประการ อาจต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญ ที่ ส.ส.ต้องร่วมกันผลักดัน

Advertisement

แกมขู่ฝ่ายค้าน หาจำเลยรับโทษ หากคิดตีตก

ร่าง พ.ร.บ.งบ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ได้รับการบรรจุเข้าสู่การพิจารณา ในวาระรับหลักการ ในสมัยประชุมสภาวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร กลางเดือนนี้

ร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีนี้ หากไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างมิต้องสงสัย

Advertisement

เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงินสำคัญ และเสียงของฝ่ายรัฐบาล ก็เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

หากงบประมาณไม่ผ่าน ผู้ที่เดือดร้อนที่สุด คนแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์

แม้รัฐธรรมนูญมิได้เขียนบังคับ แต่ธรรมเนียม การปกครองแบบรัฐสภา

รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ในสิ่งที่ไม่รับผิดชอบ กฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลแท้ๆ แต่ไม่มีปัญญาผลักดัน ออกมาบังคับใช้

ส่วนเรื่องที่บิ๊กตู่ระบุว่า จะเดือดร้อนทั้งประเทศนั้น

อันที่จริง คงไม่ถึงขั้นนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 141 บัญญัติว่า ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณฯออกไม่ทันปีงบประมาณนั้น ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน

ต่างกับระบบประธานาธิบดี

อย่างที่สหรัฐอเมริกา เคยตกเป็นข่าวคราว ระบบของสหรัฐนั้น ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง แยกส่วนกับสมาชิกรัฐสภา

หากรัฐสภาไม่ผ่านกฎหมายงบประมาณ รัฐบาลและกลไกของรัฐ ก็ไม่มีเงิน ไม่สามารถเปิดทำการได้ หน่วยงานรัฐต้องหยุดทำงาน หรือที่เรียกกันว่า ชัตดาวน์

ฉะนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรของไทยไม่เปิดไฟเขียว โหวตผ่านงบประมาณ

อะไรต่อมิอะไร คงมิได้ชะงักงันเป็นการทั่วไป อย่างสหรัฐ

แต่หากสภาไม่ผ่านงบประมาณ

ผู้เดือดร้อนมากสุด จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากบิ๊กตู่

เนื่องจากต้องแสดงสปิริต อย่างใดอย่างหนึ่ง เบาสุดก็ต้องลาออก

แต่นายกฯคงไม่คิด ยุบสภา หรือแม้แต่ไขก๊อก

แม้ว่าหากตัดสินใจลาออก จะโหวตอีกกี่ครั้งในช่วง 5 ปีภายใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ บิ๊กตู่ก็กลับมานั่งเก้าอี้ต่ออยู่ดี

เสียง ส.ส.รวมกับ 250 ส.ว.แต้มต่อท่วมท้น หนุนส่งคัมแบ๊กดำรงตำแหน่งใหม่

แต่ข้อได้เปรียบตรงนี้ ยิ่งใช้ ยิ่งพร่ำเพรื่อ ก็ยิ่งกัดกินรัฐบาล เพราะมันตอกย้ำ เผยให้เห็นถึงกติกาที่ไม่ชอบธรรม ต่ำกว่ามาตรฐานประชาธิปไตยสากล

หนทางที่ดีที่สุด คืออย่าให้ไปถึงจุดนั้น

หรืออย่าให้ต้องใช้วิธี ดันผ่านโดยเทคนิคกฎหมาย ที่กูรูทั้งหลายชี้ช่องไว้ นั่นคือ ม.143 กฎหมายแม่บทฯ เขียนว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯสภาผู้แทนฯจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่ร่างดังกล่าวถึงมือ ถ้าสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาให้ถือว่าสภาเห็นชอบ และให้เสนอร่างต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา วุฒิสภาต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 20 วัน ถ้าพ้นกำหนดเวลา ให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัตินั้น

ถ้ารัฐบาลกลัวไม่ผ่าน เห็นท่าไม่ดี

แค่ลากยื้อ ดึงพ้นเส้นตาย กรอบระยะเวลาของทั้งสองสภา กฎหมายงบประมาณก็ฉลุยแล้ว

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์ สุดยอด วิจิตรพิสดาร

แต่ก็อย่างที่บอกไว้ วิธีที่ดีที่สุด คือต้องผลักดันให้ผ่านสภาโดยวิธีการปกติให้ได้

หากปล่อยให้ถูกคว่ำกลางสภา ลาออกแล้ว บิ๊กตู่ กลับมาใหม่ หรือใช้เทคนิคกฎหมาย อุ้มร่างผ่านสภา

แน่นอนว่าคนเดือดร้อน-ช้ำมากที่สุด ขว้างงูไม่พ้นคอ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image