“ยูโอบี” ประเมินหุ้นไทยผันผวนจนสิ้นปี คาดดัชนีไต่ระดับ 1,550-1,700 จุด

นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารองค์กร สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2562 ประเมินว่าจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในลักษณะการผันผวนต่อไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี รวมถึงคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของประเทศไทยในปีนี้ อาจจะโตได้ไม่ถึง 3% ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ก็จะเห็นว่าเติบโตหดตัวลง รวมถึงมีการปรับประมาณการลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้อาจจะไม่ได้โตมากกว่าปี 2561 มากนัก ในเชิงของผลประกอบการ แต่ในตัวของราคาหุ้นกลับสูงขึ้น ทำให้คาดว่าเป้าหมายดัชนีหุ้นในปีนี้จะอยู่ที่ 1,550-1,700 จุด จนถึงสิ้นปี ส่วนเป้าหมายในปี 2563 มองว่าดัชนีจะปรับขึ้นแตะระดับ 1,750 จุดได้ ในขณะที่ประเมินผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย จะขยายตัวได้ 8- 10% โดยปัจจัยเสี่ยงยังเป็นเรื่องของปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์)เป็นหลัก เนื่องจากจะเห็นว่าการชะลอตัวของการค้าทั่วโลก มีผลกับการส่งออกของหลายประเทศไทย รวมถึงของไทยด้วย ทำให้ต้องดูในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นได้รวดเร็วเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีความล่าช้าบ้างเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้บ้าง

“ความผันผวนที่เกิดขึ้นทำให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางการเติบโตที่ชะลอตัวลง และอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับก็มีทิศทางที่ลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้นักลงทุนอาจจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น โดยต้องบอกว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อยู่ เพียงแต่ชะลอการเติบโตลงเท่านั้น จึงประเมินว่าโอกาสในการลงทุนยังมีอยู่เพียงแต่ให้กระจายการลงทุนไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยหากประเทศไทยได้รับการปรับอันดับเครดิต ก็อาจจะมีผลต่อตลาดหุ้นบ้าง แต่มองว่านักลงทุนอาจจะให้ความสำคัญต่อผลประกอบการ และการขยายตัวมากกว่า ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับการขยายตัวของเศรษฐกิจมหภาคมากกว่า เพราะจะเห็นว่าในปีนี้การเติบโตของผลประกอบการ ในบริษัทจดทะเบียนไทยไม่มีการขยายตัว ซึ่งจะสะท้อนกับราคาหุ้นว่า ราคาหุ้นไทยในปีนี้ไม่ได้วิ่งแรงมากเหมือนที่ผ่านมา”นายวจนะกล่าว

นายวจนะ กล่าวว่า ประเมินตลาดหุ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะเห็นผลตอบแทนที่ชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาสูงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังใน 3-5 ปีข้างหน้า น่าจะชะลอตัวลงและลดลงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ คำแนะนำสำหรับการปรับพอร์ตถือครองคือ ให้นักลงทุนเลือกลงทุนในส่วนของหุ้นที่มีคุณภาพสูง มีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงอยู่ในเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ผันผวนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการมีปันผลที่สูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจบางประเภทก็ไม่ได้มีการขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจอยู่ตลอดไป ทำให้คาดว่าน่าจะมีอัตราผลตอบแทนที่ดีได้

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) บริษัทมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) เติบโต 16.6% จาก 210 แสนล้านบาท เป็น 245 แสนล้านบาท นับถึงวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ามากกว่าภาพรวมตลาดในช่วงเดียวกัน ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4% ส่วนมูลค่าเอยูเอ็มเฉพาะช่วง 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม) มีอัตราการเติบโต 9% ปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตของลูกค้าสถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล ที่มีมูลค่าเอยูเอ็มเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยถึงแม้ว่าภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยจะไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตาม การจะปรับลดลงมากๆ นั้นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอัตราส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเหลือไม่มากแล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเองก็อยู่ในระดับที่ต่ำ จึงเป็นไปได้ยากที่จะย้ายการลงทุนไปยังที่ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า

Advertisement

นายวนา กล่าวว่า บริษัทฯยังคงนำเสนอทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาด และสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญ การสนับสนุนจากเครือข่ายในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงการจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายสำหรับนักลงทุน ขณะเดียวกันได้นำนโยบายธรรมาภิบาลมาใช้ในกระบวนการลงทุน โดยมุ่งเน้นบริหารจัดการลงทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และนำปัจจัยด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาเป็นหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามนโยบายการตุ้นเศรษฐกิจในประเทศว่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใดในช่วงที่เหลือของปีนี้

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 1% โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ในปีนี้ และจะลดลงอีก 1 ครั้งในปี 2563 ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในทิศทางขาลง

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image