สกู๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์ ‘มติชน’ : ดีเดย์เปิดศูนย์ ‘แอนตี้ เฟคนิวส์’

ทันสมัย ทั่วถึง เท่าทัน เพื่อให้ประชาชนคนไทย ใช้สื่อดิจิทัลอย่างเหมาะสม ไม่ตกเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดี หลักการทำงานของ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้ไว้ ณ วันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 18 กรกฎาคม 2562

ครั้นในวันเดียวกัน ก็ผุดไอเดียตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ แอนตี้-เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์ โดยเน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การหลอกลวงให้ลงทุน การขายสินค้าอันตรายและผิดกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงดีอีเอสระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยโทรศัพท์มือถือสูงถึง 180% ของประชากร และมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียสูงมาก โดยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กสูงสุดถึง 54 ล้านคน ไลน์ 42 ล้านคน
ทวิตเตอร์ 12 ล้านคน ซึ่งการใช้สื่อ โซเชียล มีเดียของประชาชนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณี และมีความขัดแย้งต่อกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายด้านการจัดเก็บภาษี กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ด้านผลสำรวจของบ้านสมเด็จโพลล์ พบว่าประชาชนพบข่าวปลอมมากที่สุดผ่านเฟซบุ๊ก 72.7% มีคนเล่าให้ฟัง 10.3% และผ่านไลน์ 8.8% ส่วนเนื้อหาข่าวปลอมที่พบมาก ได้แก่ การเมือง 28.2% ดารา 26.9% หลอกขายสินค้า 17.3% สุขภาพ ภัยพิบัติ และศาสนา ตามลำดับ

Advertisement

และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาข่าวปลอมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน จึงได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธานกรรมการ พร้อมดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการ

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม มีทั้งสิ้น 25 คน ซึ่งนอกเหนือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงดีอีเอส ยังมีหน่วยงานด้านสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันการศึกษาชั้นนำในสาขานิติศาสตร์-นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้แทนจากสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

โดยที่คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ครั้งล่าสุดได้เห็นชอบใน 3 เรื่อง ได้แก่

Advertisement

1.หลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ

2.แนวทางการดำเนินงานโดยเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.แผนการดำเนินงานต่อไป เร่งรัดประสานความร่วมมือในการปฏิบัติกับเครือข่ายเฟซบุ๊ก ไลน์ กูเกิล และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และทรู 2.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงาน 20 กระทรวง รวมทั้งอีกกว่า 200 กรมและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป)

3.เปิดตัวเว็บไซต์ “แฟค เช็กกิ้ง ไทยแลนด์” มีการทำงานในลักษณะออนไลน์ และออฟไลน์

ทั้งนี้ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อจัดกลุ่มดำเนินงานให้ครบถ้วน และครอบคลุมประเด็นปัญหาข่าวปลอม ตลอดจนความมีประสิทธิภาพในการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่อยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ ประกอบด้วย

1.กลุ่มภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เขื่อนแตก สึนามิ ไฟไหม้

2.กลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร/หุ้น

3.กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น

4.กลุ่มนโยบายรัฐบาล/ข่าวสารทางราชการ/ความสงบเรียบร้อยของสังคม/ขัดศีลธรรม
อันดี และความมั่นคงภายในประเทศ

การตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข่าวปลอมที่อิงอยู่กับมาตรฐานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ (ไอเอฟซีเอ็น) ซึ่งได้กำหนดชุดหลักการของเครือข่ายไว้ประมาณ 5 ข้อ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกที่มีการทำงานด้านต่อต้านและป้องกันข่าวปลอมใช้อยู่ ได้แก่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลกด้วยŽ

พุทธิพงษ์ ระบุว่า สำหรับชุดหลักการ ที่คาดว่าจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผล
กระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินต่อประชาชน สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ จะครอบคลุมหัวข้อ ได้แก่ ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว, ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว, การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง, ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน, สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้, มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้นๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และ โปร่งใส เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ เป็นต้น

พุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า หากประเทศไทยเดินเข้าสู่มาตรฐาน ไอเอฟซีเอ็นได้ ก็จะทำให้สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลกของเอกชนได้ด้วย เมื่อมีแจ้งผลการตรวจสอบข่าวปลอม และยืนยันข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งมีตัวแทนร่วมอยู่ในคณะกรรมการก็จะได้รับความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และสกัดกั้นการแพร่กระจายข่าวปลอมที่สร้างผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้น จะสนับสนุนให้ศูนย์แห่งนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างครบถ้วน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม และมีกระบวนการที่สร้างความมีส่วนร่วมกับประชาชนในการทำงานด้านนี้ โดยมุ่งให้ได้มาตรฐานสากล สำหรับกรอบเวลาในการเปิดศูนย์อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าไว้ไม่เกินวันที่ 1 พฤศจิกายนปีนี้ โดยระหว่างนั้นเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยจะเชิญตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากทุกกระทรวง และทุกกรม รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนตัวแทนสื่อมวลชนทุกภาคส่วน เข้ามาจัดกลุ่มทำเวิร์กช็อปเป็น 4 กลุ่มตามชุดของคณะอนุกรรมการ สร้างให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

ในกิจกรรมดังกล่าวจะมีผู้ที่มีรายชื่อเป็นบุคคลที่ติดต่อได้ ของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงตัวแทนจากแพลตฟอร์มโซเชียลต่างประเทศมาร่วมด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การติดต่อสื่อสาร และการยืนยันผลกระทบถึงประชาชน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อสารถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างกระชับ ได้ใจความ และรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนของการเปิดเวทีสาธารณะ จะเปิดให้สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้ามาสอบถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้คำเสนอแนะสำหรับการทำงานของศูนย์แห่งนี้ โดยเป็นกิจกรรมที่จะทำก่อนการเปิดศูนย์ ทั้งขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างจากทุกภาคส่วนผ่านการเปิดเวทีสาธารณะ และขั้นตอนการจัดทำกิจกรรมเวิร์กช็อปทั้งสองด้านนี้ต้องทำควบคู่กันไป

หลังวันที่ 1 พฤศจิกายน จะได้เห็นรูปธรรมของ “แอนตี้-เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์” ว่า จะมีประสิทธิภาพสามารถลดข่าวปลอม-ข่าวลวง ได้แค่ไหน…?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image