“ถวัลย์” นายกสภาทนายเข้มควบคุมมาตรฐานวิชาชีพทนายหน้าจอหากผิดมรรยาททนายสอบไม่เว้นสางเคสร้องเรียนนับร้อย

เริ่มแล้ว “โครงการทนายอาสาประจำโรงพัก กทม.-ตจว.150 แห่ง” ถวัลย์ นั่งนายกสภาทนายฯ สมัยสอง เชื่อ ปชช.ได้ประโยชน์มากสุดเน้นหลักเข้าถึง-พึ่งได้ พร้อมเข้มควบคุมมาตรฐานวิชาชีพเร่งสางเคสร้องเรียนนับร้อย ส่วนทนายหน้าจอทีวีให้ข้อคิดเห็น ก.ม.หากทำผิดมรรยาททนาย ไม่งดเว้นสอบ

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่าที่ ร.ต.ดร.ถวัลย์ รุยาพร  นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ คนล่าสุดลำดับที่ 6 ได้กล่าวถึงนโยบายการบริหารสภาทนายความด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน หลังจากที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสภาทนายความฯ ติดต่อกันในสมัยที่ 2 นี้ว่า ในฐานะสภาทนายความเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์หลักช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ทางสภาทนายความฯ ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เรื่อยมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาทนายความ เมื่อปี พ.ศ.2528 เราได้ช่วยเหลือการดำเนินคดี , ให้คำแนะนำข้อกฎหมาย และเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ปัจจุบันก็จะทำให้มากขึ้นให้เป็นรูปธรรมทั้งในเรื่องการให้คำปรึกษา รวมทั้งการช่วยดำเนินคดีให้กับผู้ที่ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านกฎหมายด้วย ซึ่งเราดำเนินการช่วยเหลือทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ โดยสภาทนายความฯ มีสาขาสำนักงานสภาทนายความจังหวัดด้วยที่พร้อมจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

และเนื่องจากตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมด้วย ล่าสุดได้ร่วมผลักดันอีกโครงการหนึ่งที่ผ่านมติ ครม.ไปแล้ว คือ “โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ (โรงพัก) ” (โครงการนำร่องความร่วมมือสภาทนายความฯ , กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ปนะหยัดค่าใช้จ่าย) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.62 โดยจัดให้มีทนายความช่วยเหลือประชาชนประจำตามสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่มีปัญหาด้านกฎหมายสามารถมาปรึกษาทนายความที่สถานีตำรวจได้ แต่ก็ยังจัดให้มีทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจได้ไม่ครบทุกแห่ง ขณะนี้ได้ประมาณ 150 แห่ง คือในพื้นที่ กทม. มีทนายความอาสาประจำประมาณ 35 สถานี ส่วนที่เหลือก็กระจายตามต่างจังหวัดประมาณ 115 สถานี ปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จึงมี 2 ทาง คือ 1.เดินทางมายังสำนักงานสภาทนายความฯ (สำนักงานใหญ่) ที่ย่านสะพานใหม่ เขตบางเขน 2.กรณีที่ไปยังสถานีตำรวจร่วมโครงการฯ ก็สามารถขอคำปรึกษาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจได้ที่ตอนนี้มีประจำใน กทม.- ต่างจังหวัด รวม 150 แห่งได้ โดยก่อนหน้านี้จากแบบสำรวจความเห็นในการทำโครงการพบว่าที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางไปยังสถานีตำรวจมีจำนวนมากที่สุด

Advertisement

“เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทนายความสามารถให้คำปรึกษาได้ทั้งข้อกฎหมายคดีแพ่ง-คดีอาญา และให้คำปรึกษาทั้งผู้ที่อยู่ในฐานะผู้เสียหาย หรือฐานะผู้ต้องหาด้วย โดยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายนั้นเราไม่ได้เลือกว่าเป็นใคร ขณะที่การให้คำปรึกษานี้อย่างในคดีทางแพ่งก็เสมือนเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของพนักงานสอบสวนไปด้วยเพราะปกติงานของพนักงานสอบสวนก็มีมากอยู่แล้วด้วย” นายกสภาทนายความ ระบุ

เมื่อถามถึงบทบาทการดูแลควบคุมทนาย ที่สังคมอาจเรียกว่าทนายนักร้อง ทนายความที่ออกสื่อ หรือเรียกว่าทนายหน้าจอ ให้ความเห็นข้อกฎหมายคดีต่างๆ ควรมีกรอบควบคุมหรือไม่ ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ นายกสภาทนายความฯ ได้กล่าวถึงมาตรฐานตรวจสอบการประกอบวิชาชีพทนายความและมรรยาททนายความว่า โดยการปฏิบัติหน้าที่ทนายความนั้นเราก็มีข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ควบคุมดูแลอยู่แล้ว ซึ่งแม้กฎหมายนี้จะใช้มานานแต่ก็ได้เขียนครอบคลุมไว้อยู่แล้วว่าทนายความต่างๆ ต้องประพฤติตนไม่ให้เกิดความเสื่อมเสีย บุคคลใดที่กระทำการนอกลู่นอกทางก็ต้องระวัง เช่น การห้ามโอ้อวดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่น เป็นต้น ก็จะมีการพิจารณาลงโทษ โดยการกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดในภาษาทนายเรียกว่า “ตระบัดสินลูกความ” คือการกระทำฉ้อโกง ยักยอกเงิน หรือการทุจริต การเอาเงินลูกคงามไปใช้โดยมิชอบ ซึ่งหากพบว่ามีความผิดในข้อกล่าวหาร้ายแรงนี้ บทลงโทษก็คือการลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ อย่างไรก็ดีในการตรวจสอบต่างๆ นั้นยืนยันว่าเราให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายไม่มีการกลั่นแกล้งกัน โดยหากมีผู้ร้องเรียนก็จะตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งการเข้าสู่ระบบตรวจสอบอาจมีทั้งกรณีมีผู้ร้องเรียนเข้ามา กรณีอัยการหรือศาลแจ้งข้อมูลมา และกรณีที่เรียกว่าความปรากฏเป็นความผิดซึ่งคณะกรรมการมรรยาทฯ ได้เห็นเหตุนัั้นว่าเป็นความผิด

สำหรับกรณีทนายความที่ให้ความเห็นทางหน้าจอทีวีนั้นหากกระทำการที่เสื่อมเสีย กระทบถึงรูปคดีที่ตำรวจทำอยู่หรือส่อจะผิดมรรยาททนายความ หากมีการร้องเรียนก็จะดำเนินการตรวจสอบ แต่หากเขาไม่ได้ทำอะไรผิดจะไปลงโทษไม่ได้ ซึ่งวิชาชีพทนายความก็มีความเป็นอิสระอย่างหนึ่งโดยเรามีกรอบมรรยาททนายความควบคุมดูแลอยู่

Advertisement

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการลงโทษตามข้อบังคับมรรยาททนายความเมื่อกระทำผิดประพฤติตนไม่เหมาะสมในลักษณะต่างๆ กันไปนั้นก็เคยมี โดยการลงโทษก็มีตั้งแต่การลบชื่อออกจากการขึ้นทะเบียนทนายความ , ห้ามทำการเป็นทนายความ เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี , การภาคทัณฑ์ ซึ่งโทษเบาที่สุดก็คือการงดโทษ คือการว่ากล่าวตักเตือน หรือทำเป็นหนังสือแจ้งทัณฑ์บนกรณีการทำผิดครั้งแรกเล็กน้อย

สำหรับตัวอย่าง กรณีตระบัดสินลูกความ (ฉ้อโกงเงินลูกความ) ที่เคยเป็ข่าวและลงโทษสูงสุดคือการลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ คือกรณีนายพิสิษฐ์ สัมมาเลิศ (อายุ 62 ปี) ที่ฉ้อโกงเงินน้องบีมไป (เงิน 5 ล้านบาทที่ได้ชดใช้ในคดีเด็กหญิงประสบอุบัติจนพิการนั่งวิลแชร์) ปัจจุบันก็ถูกดำเนินคดีอาญาและได้รัยโทษจำคุกแล้วด้วย

ขณะที่ปัจจุบันนี้ในการร้องเรียนมีเรื่องกล่าวหาต่างๆ เข้ามาที่สภาทนายความฯ นับ 100 คดี ซึ่งขั้นตอนในการตรวจสอบข้อร้องเรียนมรรยาททนายความนั้น นายกสภาทนายความฯ ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการรับเรื่อง แต่ตามขั้นตอนจะมีประธานกรรมการมรรยาททนายความเป็นผู้พิจารณาสั่งว่าจะรับเรื่องตรวจสอบไว้หรือไม่ โดยประธานกรรมการมรรยาททนายความก็จะประจำอยู่ที่สภาทนายความฯ ย่านบางเขนนี้ เมื่อประธานกรรมการมรรยาททนายความสั่งรับเรื่องแล้วก็จะสั่งให้มีการสอบสวน แล้วส่งผลนั้นให้คณะกรรมการมรรยาททนายความ ร่วมพิจารณาทำความเห็น แล้วส่งรายงานเสนอมาที่คณะกรรมการสภาทนายความฯ (ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม 1 คน , ผู้แทนจากเนติบัณฑิตยสภา 1 คน , นายกสภาทนายฯ กับกรรมการอื่นที่ได้รับเลืิอกตั้งจากทนายทั่วประเทศไม่เกิน 23 คน) เพื่อพิจารณาชี้ขาด หากถูกลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาก็สามารถอุทธรณ์ผลนั้นได้ต่อ รมว.ยุติธรรม ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความได้ และยังสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ในลำดับสุดท้ายตามกระบวนการกฎหมายด้วย

โดย ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ นายกสภาทนายความฯ ยังได้กล่าวในตอนท้าย ฝากถึงประชาชนทุกคนด้วยว่า สภาทนายความฯ เราก็ถือเป็นที่พึ่งทางกฎหมายของประชาชนอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งเราร่วมกันทำหน้าที่ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มายาวนานหลายสิบปีแล้วทุกวันนี้เราก็ยังคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือความเดือดร้อนด้านคดีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต่อไปสิ่งที่เราพยายามจะทำอย่างต่อเนื่อง ก็คือโครงการการให้ความรู้ทางกฎหมายกับประชาชนก็พยายามจัดโครงการอย่างนี้ให้ได้ทั่วประเทศตามงบประมาณที่เราได้รับมาแม้จะได้มาอย่างจำกัดแต่เราก็พยายามทำได้ตามกำลังที่มี เพราะคิดว่าขนาดนักกฎหมายยังรู้กฎหมายไม่หมดเลย แล้วประชาชนก็ไม่รู้กฎหมายถ้าไม่ให้ความรู้ประชาชนจะรู้กฎหมายได้อย่างไร โดยสภาทนายฯ เราจะเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย โดยยึดหลักว่า “ประชาชนเข้าถึง พึ่งได้”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image