วอร์รูมพณ.ชู4ข้อรับวิกฤตส่งออก-ฟื้นศก. เอกชนติงแก้ช้าปี63หนักขึ้นส่งออกอาจลบ3%จีดีพีเหลือ2.7%  

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์  กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานติดตามผลกระทบต่อการส่งออกไทย(คณะทำงานวอร์รูมพณ.) ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท) สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกทางเรือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) คณะทำงานเขตพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ว่า เป็นการหารือเพื่อจัดทำแนวทางเตรียมรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน(เทรดวอร์) อังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป(เบร็กซิท) สถานการณ์รุนแรงในฮ่องกงและตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหาค่าบาท เพื่อเสนอให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกระทรวงพาณิชย์(กรอ.พณ)ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาและเห็นชอบ เพื่อการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ทางปฎิบัติต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะมีการประชุมกรอ.ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมหารือใน 4 ประเด็น คือ 1.ให้ทุกหน่วยงานจัดทำแนวทางรับมือการเบี่ยงเบนทางการค้า ที่เกิดจากเทรดวอร์ เบร็กซิท และอื่นๆ ทั้งสินค้านอกทะลักเข้าไทย  สวมสิทธิ์ไทยเพื่อใช้สิทธิทางภาษีนำเข้า(จีเอสพี)หรือรับสิทธิโควตาส่งออก รวมถึงแผนระยะยาวในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เช่น อังกฤษอาจเลื่อนออกจากสมาชิกอียู จากเดิม 30 ตุลาคม เป็นต้นปีหน้า  เป็นต้น 2. ใช้โอกาสค่าบาทแข็งในการปรับโครงสร้างนำเข้าและส่งออก หรือเป็นการปรับพอร์ตประเทศไทย ภาคเอกชนเห็นพ้องแก้ลดระเบียบในการเปิดให้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อมาผลิตหรือแปรรูปแล้วส่งออก ซึ่งบาทแข็งจะทำให้นำเข้าได้ราคาถูกลงและลดต้นทุนการผลิต โดยเอกชนต้องไปศึกษาและรวบรวมว่าต้องการนำเข้าวัตถุดิบอะไร เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมในประเทศ ที่เสนอมาเช่น อาหารแปรรูป

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า 3. เห็นชอบผลักดันการเปิดเสรีและเจรจาการค้า(เอฟทีเอ) โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งกว่าจะได้ข้อสรุปต้องใช้เวลา 1-2 ปี เร่งรัดสรุปความตกลงอาเซียนบวก6 (อาร์เซ็ป)ภายในปีนี้ ซึ่งวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีการค้าสมัยพิเศษ ก่อนเสนอผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้  และ 4. เร่งรัดการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้รัฐเร่งสร้างบรรยากาศและนำคณะเอกชนไปโรดโชว์ รวมถึงปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“เอกชนไม่ได้วิตกแค่ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ยังวิตกในเรื่องค่าเงินบาทแข็ง ปัญหาขาดแรงงานฝีมือและค่าแรงงานไทยสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน จนกระทบต่อการส่งออกหดตัวได้ต่อเนื่อง จึงเห็นพ้องว่าไทยควรปรับพอร์ตโครงสร้างประเทศใหม่ เน้นลดพึ่งพาส่งออกและหันมาพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนให้มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก “ นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

Advertisement

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับพณ.ว่า จากตัวเลขส่งออก  8เดือนแรกของปีนี้ ติดลบแล้ว 2.2 %และจากแนวโน้มผลกระทบจากเทรดเวอร์ ความไม่ชัดเจนเรื่องเบร็กซิท เหตุการณ์ในฮ่องกงกับจีน เหตุการณ์ปะทะในประเทศตะวันออกกลางอาจมีผลต่อราคาน้ำมันและการขนส่งในอนาคต รวมถึงบรรยากาศกำลังซื้อและการนำเข้าทั่วโลกไม่ได้ดีขึ้น จึงเชื่อว่าการส่งออก 4 เดือนสุดท้ายปีนี้ ยังอึมคึม จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ 2%

“น่าห่วงจากนี้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ตอนนี้ทุกประเทศประสบปัญหาเหมือนกัน โดยโอกาสปีหน้าส่งออกติดลบเพิ่มเป็น 3% ส่งผลต่อจีดีพีหดตัวอีกจากปีนี้ 2.8% เหลือ 2.7%  ดูจากไทยนำเข้าหดมาตลอดและกำลังผลิตเพียง 60% อาจมีผลระยะยาวต่อการลดเวลาทำงานหรือเริ่มเลิกจ้างแล้วแต่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว บางส่วนหันใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ผสมแรงงานคนมากขึ้น ส่วนลงทุนใหม่จะเกิดได้ต้องมีกำลังเกิน 75-80% ภาคเอกชนจึงลงทุนใหม่ “นายเกรียงไกร  กล่าว

นายเกรียงไกร  กล่าวว่า เอกชนเสนอว่า ตอนนี้ที่รัฐบาลควรเร่งรัดคือลดพึ่งพาส่งออกหันพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ ระยะยาวควรปรัดสัดส่วนต่อการขยายตัวจีดีพีใหม่ จากพึ่งพาในประเทศ 30% ให้เป็น50% และลดพึ่งพาส่งออก 70% เหลือ 50% ระยะสั้นต้องเริ่มจากการรรณรงค์ใช้สินค้าผลิตในประเทศ สร้างค่านิยมเมดอินไทยแลนด์ และลดรับจ้างผลิตเป็นสร้างแบรนด์ของตนเอง เพื่อได้มูลค่าเพิ่ม เรื่องนี้ภาคเอกชนกำลังปรับตัว แต่รัฐควรให้การสนับสนุนด้วย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนเสนอให้ใช้วิกฤตบาทแข็งสร้างโอกาสลดต้นทุน โดยหันนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูปแล้วส่งออก เพื่อให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ก็ยังติดในเรื่องระเบียบนำเข้า เสนอให้กระทรวงพาณิชย์สำรวจว่ามีสินค้าใดและประเทศใดที่มีวัตถุดิบราคาถูกเพื่อนำมาผลิตและไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมหรือเกษตรกรไทย  ตอนนี้เศรษฐกิจทั่วโลกแย่ลง กำลังซื้อถดถอย ทุกประเทศทั่วโลกแย่งกันขายสินค้ามากกว่าซื้อสินค้า  ส่วนใครขายได้อยู่ที่ต้นทุนและราคาใครดีกว่ากัน

“เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงาน ไม่อยากให้หยิบขึ้นมาในเร็วๆนี้ เพราะจะลดบรรยากาศและการลงทุนใหม่ๆ เพราะปัญหาขึ้นค่าแรงงานก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง ยังเป็นปัญหาให้มีลดคนงานและใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนถึงวันนี้ ส่วนปัญหาคนไทยตกงานยังไม่เห็นมากนัก เพราะมีภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว และอาชีพอิสระรองรับ ที่อาจลดบ้างน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่เคยใช้แรงงานจำนวนสูงมาก และหันมาใช้เครื่องจักรแทน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว “ นายพจน์ กล่าวและว่า มาตรการชิมช้อปใช้ เป็นมาตรการที่ดีต่อการกระตุ้นกำลังซื้อ แต่แค่เป็นการกระตุ้นปลายทาง รัฐต้องเร่งกระตุ้นลงทุนและสร้างโอกาสธุรกิจในระยะยาวด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image